หลายปัจจัยลบทั้งสภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายใน รวมถึงมาตรการต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของอสังหาริมทรัพย์ในปี2562อยู่ในช่วงขาลงจนต่ำสุดในรอบ5ปี
โดยเฉพาะการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงถึง 30%ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจ พร้อมกันกับยุคที่เทรนด์ที่อยู่อาศัยของสังคมไทยก็เปลี่ยนไป ปี2563จึงเกิดเทรนด์การพลิกโฉมโมเดลธุรกิจค่ายอสังหาฯ หาจุดยืนเพื่อชิงส่วนแบ่งของความต้องการ(ดีมานด์)ที่ลดลง
สุวรรณี มหณรงค์ชัย รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้ประเมินถึงแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 เป็นปีที่วงการอสังหาริมทรัพย์ต้องขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวจากหลากหลายปัจจัยลบ เพื่อดึงกำลังซื้อผู้บริโภคที่มีคุณภาพจากที่บางส่วนยังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยทรงตัวอยู่ในระดับสูง
สิ่งที่จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคในยุคช่างเลือก ต้องพิจารณาที่อยู่อาศัยตอบโจทย์การใช้ชีวิต สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ จึงทำให้นักพัฒนาฯ ได้เข้าถึงและกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยจริง (Real Demand) ให้ตัดสินใจซื้อได้
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ วิเคราะห์เทรนด์ที่อยู่อาศัยที่มาแรง และมีอิทธิพลทำให้นักพัฒนาฯปรับตัว นำเสนอสินค้าตอบโจทย์เรียล ดีมานด์ ปี 2563 มีทั้งสิ้น 6 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย
1. เทคโนโลยีเชื่อมต่อการอยู่อาศัย โครงการที่อยู่อาศัยที่เปิดใหม่ในปีหน้าจะต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานกับไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อเพื่ออำนวยความสะดวกการอยู่อาศัย ผ่านการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน (Transform) องค์กรไปสู่ดิจิทัล มีการนำเทคโนโลยีใหม่ทั้ง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับอินเทอร์เน็ต (IoT) เพื่อทำให้ที่อยู่อาศัยเป็นสมาร์ทโฮม เช่น การสั่งการด้วยระบบเสียง บนกูเกิล (Google Assistant) และพัฒนาระบบควบคุมดูแลที่อยู่อาศัยตลอด 24 ชั่วโมง
2.โครงการที่อยู่อาศัยกลุ่มเรียลดีมานด์ยังเติบโต ในปี2562 ยังมีบางตลาดที่เติบโตได้สะท้อนให้เห็นว่าเรียลดีมานด์ก็ยังเติบโต เช่นเดียวกันกับปี 2563 บางทำเล และราคาหากเข้าถึงกลุ่มที่ต้องการอยู่อาศัยจริงก็ยังคงเป็นที่ต้องการซื้อ โดยเฉพาะทำเลที่อยู่ในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า ทั้งสายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน รวมไปถึงการเริ่มเปิดตัวรถไฟฟ้าสายสีทอง ในปี 2563 รวมถึงสายสีชมพู และสายสีเหลือง ในปี 2564 เส้นทางใหม่ที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะซัพพลายคอนโดมิเนียมในราคาต่ำกว่า 1แสนบาทต่อตารางเมตร(ตร.ม.) หรือต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่มีสัดส่วนถึง70% ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย โดยอยู่ในโซนทำเลรองจากย่านธุรกิจ (CBD -Central Business District)
ประกอบด้วย สุขุมวิทรอบนอก แจ้งวัฒนะ มีนบุรี รามอินทรา และพื้นที่รัชดา-ลาดพร้าว
3.มิกซ์ยูสบุกตลาด รูปแบบที่อสังหาฯ ที่มีการผสมผสาน สำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม และที่อยู่อาศัย ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในกรุงเทพฯ เพราะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ครบครันในจุดเดียวกัน ซึ่งในระหว่างปี 2561-2569 เริ่มมีโครงการมิกซ์ยูสพัฒนามากขึ้น
4.การร่วมกันกันลงทุนและพัฒนาข้ามแบรนด์ (JV-Joint Venture) ในโครงการอสังหาฯ มีการดึงแบรนด์ไลฟ์สไตล์ เข้ามาเปิดเพื่อทำให้โครงการน่าสนใจ เช่น การดึงเชนโรงแรม5 ดาวเข้ามาบริหารคอนโด, การดึงรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาบริการลูกบ้านในคอนโด, การดึงแบรนด์ร้านกาแฟ ตลอดจนไนท์คลับ ในคอนโด ล้วนเป็นการเพิ่มมูลค่าและจุดขายให้กับคอนโด รวมไปถึงการร่วมมือกันระหว่างค่ายอสังหาฯไทยและญี่ปุ่น ลงทุนพัฒนาโคงการเพื่อกระจายความเสี่ยง
5. โครงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เทรนด์โลกร้อนกลายเป็นกระแสที่ตื่นตัวในระดับผู้บริโภค เช่นการงดแจกถุงในร้านค้าปลีก จึงทำให้หลายโครงการที่อยู่อาศัยต้องใส่ใจเรื่องรักษ์โลก เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การนำเศษวัสดุก่อสร้างกลับไปรีไซเคิล และการบริการจัดการสิ่งของเหลือใช้ หรือการกำจัดขยะ มีการชูนวัตกรรมแปรรูปของเสียเป็นปุ๋ยดูแลแปลงปลูกผักออแกนิกในหมู่บ้าน
6.โครงการจากที่ดินเช่าระยะยาว (Leasehold) ส่วนใหญ่เป็นที่ดินใจกลางเมืองที่ดินมีจำกัด ถือครองโดยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่างๆ รวมไปถึง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จึงนำที่ดินเปิดให้พัฒนาโครงการในระยะยาว ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน สังคมผู้สูงวัย และคนโสดมากขึ้น ตลอดจนผู้เข้ามาซื้อส่วนใหญ่เป็นต่างชาติมากขึ้น
สำหรับหลักเกณฑ์ที่ผู้บริโภคใช้ในการพิจารณาตัดสินใจซื้อมี 5 ด้านคือ ได้แก่ 1.คุณภาพงานก่อสร้างดี 2.ใช้วัสดุที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา 3.ส่งมอบบ้านตรงตามเวลาและตามคุณภาพที่ตกลงไว้ 4.ให้ข้อมูลที่เป็นจริงไม่โฆษณาเกินจริง และ 5.มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆกับสินค้าและบริการ