ทำความรู้จัก ‘BCG Economy’ โมเดลใหม่ เศรษฐกิจไทย
ตามไปทำความรู้จักคำศัพท์ใหม่แห่งปี "BCG Economy" โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล โมเดลนี้คืออะไร และสำคัญต่อประเทศอย่างไรบ้าง ?
ก่อนหน้านี้หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "เศรษฐกิจชีวภาพ" หรือ Bio Economy ที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาไม่นาน เพียง 2 ปีที่ผ่านมานี้นี่เอง ซึ่งใช้เป็นอีกหนึ่งโมเดลในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย พูดง่ายๆ ก็คือการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งแนวทางนี้มุ่งไปที่การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตร เช่น การทำให้ “อ้อย” หนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทย เป็นมากกว่าน้ำตาล สู่ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า เช่น เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ เป็นต้น
แต่มาวันนี้รัฐบาลได้ประกาศโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นมาอีก โดยบอกว่าคือ "BCG Economy" พร้อมบอกว่าโมเดลนี้จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานรากได้อีกด้วย
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพามาทำความรู้จักกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่นี้กันว่า BCG คืออะไร? และส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง?
ที่มา : สวทช.
- โมเดลเศรษฐกิจ BCG คืออะไร?
ก่อนอื่นมาเริ่มทำความเข้าใจกับความหมายของ BCG กันก่อน โมเดล BCG เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งต่อยอดจากโมเดลเดิมที่รัฐบาลพยายามผลักดันอยู่ แต่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
โดยรัฐบาลบอกไว้ว่า เพื่อนำพาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งตัวโมเดลนี้จะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีการตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะช่วยเพิ่ม GDP ของไทย เป็น 4.3 ล้านล้านบาท ที่สำคัญจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมของไทยให้สมบูรณ์ รวมถึงจะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDG) ขององค์การสหประชาชาติด้วย
โดยโมเดล BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ได้แก่
B = เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เป็นการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิม นั่นก็คือ ทรัพยากรชีวภาพ หรือผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีธาตุอาหารสูง เป็นต้น
C = เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญคือการมุ่งไปที่ ZERO WASTE หรือการลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ ด้วยการปรับกระบวนการผลิต เช่น การเปลี่ยนของเสียจากการผลิต
G = เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เอมไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อการฟอกกระดาษ การใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมี เป็นต้น
แต่จริงๆ แล้ว นอกจากเศรษฐกิจหลัก 3 ด้านที่กล่าวมานี้ ยังครอบคลุมเศรษฐกิจอีก 3 ด้านที่สำคัญ คือ 1.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (intelligent Economy) เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยวางแผนและจัดการระบบต่างๆ 2.เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่เราสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการของตัวเองและมีความยืดหยุ่นกว่าเดิม เช่น การหาที่พักในแอพพลิเคชั่น และ 3.เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) เป็นการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
- ทำไมรัฐบาลถึงต้องผลักดันระบบเศรษฐกิจใหม่นี้?
อย่างที่บอกระบบเศรษฐกิจ BCG จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ระบุถึงโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจของไทยว่า เดิมมีการพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก ประชากรส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคเกษตรกรรม สะท้อนด้วยสถิติของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2556 ที่ระบุไว้ว่า แรงงานในภาคเกษตรมีจำนวนสูงถึง 32.3% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีเพียง 17% และภาคบริการ 7% แต่รายได้ภาคเกษตรกลับสวนทาง ทำให้แรงงานด้านนี้ลดน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
ขณะเดียวกันแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ทั้งเทคโนโลยี การก้าวเข้าสู้สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่มีแนวโน้มจำนวนลดลงนั้น การเตรียมรับมือถือเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลจึงพยายามผลักดันเศรษฐกิจแบบใหม่ เช่น ต้องเป็นระบบที่ใช้ความรู้ การจัดการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการมีระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างส่งผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ และปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว เป็นต้น
โดยรัฐบาลออกแบบเจ้าโมเดลนี้ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น S-Curve ทั้งหมด 4 อุตสาหกรรม ได้แก่
1. อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร นับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเราที่คุ้นเคย มาวันนี้เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป เราคงต้องปรับตัว และตัวแปรที่จะพาไทยไปได้คือเหล่าเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ด้านการเกษตร อาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดความแม่นยำมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตจากการเพาะปลูก สำหรับด้านอาหาร อาจมองไปถึงการพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะบุคคล เป็นต้น
2. อุตสากรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ หนึ่งสิ่งที่หลายภาคส่วนพยายามทำ คือ การใช้เทคโนโลยีแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งเป็นพลังงานชีวภาพ หรือนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
3. อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เช่น การพัฒนาสมุนไพรที่มีอยู่ในประเทศให้มีคุณภาพมากขึ้นและปลอดภัย หรือต่อยอดการแพทย์ปัจจุบัน เช่น การเอาเทคโนโลยีเข้ามาตรวจพันธุกรรมเพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น
และ 4.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
แต่ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญที่จะทำให้โมเดลนี้ดำเนินไปได้ช้า นั่นก็คือเรื่องของคน ทั้งความพร้อม ความรู้เรื่องเทคโนโลยี รวมถึงเงินทุนสำหรับการพัฒนาต่อยอดและสำหรับการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
หากรัฐบาลเองสามารถที่จะสนับสนุนด้านต่างๆ และดำเนินการบางโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมหรือต้นแบบ กับประชาชนได้ อนาคตทิศทางประเทศก็จะไม่ไกลไปจากแผนที่รัฐบาลตั้งเป้าตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy ได้อย่างแน่นอน