'เอสซีจี' ดันโมเดลธุรกิจใหม่ รุกเศรษฐกิจหมุนเวียน
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหลักของโลก ซึ่งบริษัททั่วโลกรวมทั้งไทยได้หันมาพัฒนาธุรกิจตามแนวทางนี้
ยุทธนา เจียมตระการ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีมุ่งดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมี SCG Circular way ที่ครอบคลุมการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดหาทรัพยากรที่ได้จากการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำ
ในขณะที่การผลิตได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผลิต การขาย การตลาดและการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ระบบการเช่าสินค้าและ Sharing Platform เพื่อให้การขายและขนส่งมีประสิทธิภาพขึ้น
รวมทั้งได้ใช้งานผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ เพื่อนำของเสียมาหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตได้ใหม่ หรือใช้พลังงานทางเลือก โดยยังผลิตสินค้าและบริการ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เช่นเดิม และสร้างโอกาสและความได้เปรียบการแข่งขันให้เอสซีจี
อีกทั้งเพื่อเป็นต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ขยายผลสำเร็จ และมีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ธุรกิจและชุมชนได้กว้างขวาง โดยเชื่อว่าความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ซึ่งแนวคิดการดำเนินธุรกิจดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจแบบ BCG Economy
สำหรับ SCG Circular way สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งช่วยลดทรัพยากรในการกระบวนการผลิต เช่น การรวบรวมและจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้ได้วัตถุดิบสำหรับนำกลับไปเข้ากระบวนการผลิต เช่น การรวบรวมเศษกระดาษกลับสู่โรงอัดกระดาษ เพื่อนำกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน รวมถึงการนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล
นอกจากนี้ ได้พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างและรักษาคุณค่าหลักของวัสดุสูงสุด โดยเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบที่มาจากกระบวนการรีไซเคิลในการผลิตสินค้า แต่ยังมีความแข็งแรง ทนทาน เช่น การเลือกใช้พลาสติกชนิดเดียวในการผลิต (Mono Material) เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการนำไปรีไซเคิล
“เอสซีจีกำลังศึกษาและพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่ามากที่สุด นอกจากนั้น ยังได้ต่อยอด และขยายแนวคิดนี้ไปสู่การพัฒนาธุรกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม”
ส่วนการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดผลสูงสุด รัฐบาลควรเข้ามาผลักดันใน 4 มาตรการ ได้แก่
1.ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก และนำกลับไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนเป็นพลังงาน หากไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างเหมาะสม
2.ผลักดันให้ภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล และมีส่วนรับผิดชอบต่อการจัดการซากสินค้าเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน กำหนดมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ต้องคำนึงถึงขยะที่จะเกิดขึ้นหลังจากการใช้งาน ให้สามารถนำมาหมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าของขยะ
3.รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนลดการสร้างขยะและเพิ่มการรีไซเคิล ประชาชนต้องมีความรู้และเข้าใจว่า ทำไมต้องลดการสร้างขยะ หมุนเวียนใช้ซ้ำให้คุ้มค่าได้อย่างไร เศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยโลกของเราอย่างไร ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันรณรงค์ เช่น บรรจุหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหลักสูตรภาคบังคับในทุกระดับชั้น และส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานในทุกโรงเรียน
4.บังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่มีอยู่อย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายการทิ้งและการจัดเก็บขยะ และส่งเสริมการจัดการขยะเปียกในครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เอสซีจี ได้ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมจากการใช้ทรัพยากรแบบ Take-Make-Dispose เป็น Make-Use-Return โดยได้เริ่มต้นจากโครงการ “บางซื่อโมเดล” ซึ่งเป็นการจัดการของเสียภายในสำนักงานใหญ่ที่บางซื่อ เพื่อสร้างความตระหนักให้พนักงานเห็นคุณค่าของทรัพยากร เป็นต้นแบบที่ดีด้านบริหารจัดการของเสีย ปลูกฝังหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับพนักงานผ่านเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถทำได้
รวมทั้งเอสซีจีผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มจากการพัฒนา 2 โมเดลธุรกิจ ได้แก่ 1.Sharing Platform เป็นแพลทฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้ได้ใช้ประโยชน์จากวัสดุอย่างคุ้มค่า เช่น PAPER X แพลทฟอร์มการซื้อขายกระดาษที่ช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างผู้ขายที่ต้องการขายกระดาษ และผู้ซื้อที่ต้องการนำกระดาษไปสร้างมูลค่าเพิ่ม Ready Plastic แพลทฟอร์มการซื้อขายพลาสติกที่ช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างผู้ขายที่ต้องการขายพลาสติก และผู้ซื้อที่ต้องการนำพลาสติกไปสร้างมูลค่าเพิ่ม
2.Product as a Service เป็นการนำเสนอสินค้าผ่านการให้บริการ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการอย่างสูงสุด เช่น ALLRENT บริการเช่าอุปกรณ์สำหรับงานก่อสร้าง ซึ่งเอสซีจีในฐานะที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีเครื่องมือการก่อสร้างอยู่แล้ว จึงเกิดเป็นธุรกิจให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้าง พร้อมการดูแลรักษา ตามแนวคิด Product as a Service