หุ้น THAI ปีกหัก ราคาไถลแตะ 6.30 บาท ทำนิวโลว์รอบ 29 ปี
หุ้น “บินไทย” ปีกหัก ราคาไถลลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.30 บาท ขณะ ยอดขายชอร์ตตั้งแต่ต้นปีพุ่งเฉียด 10% “นักวิเคราะห์” เตือนระวังลงทุน เหตุปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น กดดันต้นทุนเพิ่ม เสี่ยงต้องเพิ่มทุนรอบใหม่
ราคาหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI วานนี้(8ม.ค.) ปิดตลาดลดลง 3.76% มาอยู่ที่ 6.40 บาท หรือลดลง 0.25 บาท ระหว่างวันทำสุดต่ำสุดที่ 6.30 บาท ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ THAI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2534 โดยหุ้น THAI มีแนวโน้มเป็น “ขาลง” ตั้งแต่ปลายปี 2559 ซึ่งขณะนั้นราคาอยู่ที่ราว 32 บาท หรือลดลงมาแล้วกว่า 80%
หุ้น THAI ที่ลดลงต่อเนื่อง เป็นไปตามผลประกอบการที่อ่อนแอ โดยบริษัทขาดทุนถึง 1.2 – 1.5 หมื่นล้านบาท ในระหว่างปี 2556 – 2558 ก่อนจะพลิกมีกำไรสุทธิ 15.14 ล้านบาท ในปี 2559 แต่ก็กลับมาขาดทุนต่อเนื่องอีก 2.1 พันล้านบาท และ 1.16 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 – 2561 ตามลำดับ
ส่วนผลประกอบการ 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2562 บริษัทรายงานขาดทุนสุทธิออกมาแล้ว 1.11 หมื่นล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 4.08 พันล้านบาท
สำหรับในปีนี้ พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2563 มา มียอดขาย “ชอร์ต” ในสัดส่วนที่สูงต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยที่ 9.23% ของมูลค่าการซื้อขายรวม เทียบกับปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนการขายชอร์ตเฉลี่ยที่ 7.36% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินว่า การทำธุรกรรมขายชอร์ตหุ้นการบินไทยในช่วงที่ผ่านมาน่าจะเกิดจากนักลงทุนบางส่วนมองเห็นโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงจากทิศทางธุรกิจที่ยังมีแนวโน้มเชิงลบ จึงทำให้มีการทำธุรกรรมขายชอร์ตกันค่อนข้างมาก ขณะที่ในส่วนของพื้นฐานของธุรกิจมองว่ายังมีแรงกดดันจากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยน้ำมันถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจสายการบินต่างๆรวมถึงการบินไทยด้วย
ทั้งนี้จากข้อมูลในช่วง 9 เดือนปี 2562 พบว่าการบินไทยมีค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเครื่องบินคิดเป็น 27-28% ของต้นทุนรวมทั้งหมด ซึ่งการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดีดตัวขึ้นเร็ว จึงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานให้สูงตามไปด้วย สวนทางกับการแข่งขันของธุรกิจสายการบินที่ยังคงรุนแรงทั้งการแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินในต่างประเทศที่อาจส่งผลให้อัตรากำไรยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ง่ายๆ
ขณะเดียวกันประเมินว่าผลการดำเนินงานในปี 2563 การบินไทยจะขาดทุนต่อเนื่องราว 5,000 ล้านบาท หลังจากผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2562 ที่ผ่านมาขาดทุนแล้วกว่า 1.11 หมื่นล้านบาท และยังมีโอกาสที่ปีนี้จะขาดทุนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้หากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอย่างต่อเนื่องและผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
นอกจากนี้คาดว่าหากการบินไทยยังมีผลประกอบการขาดทุนอย่างหนักต่อเนื่องก็มีโอกาสที่ต้องดำเนินการเพิ่มทุน หลังจากในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเหลืออยู่แค่ระดับ 12,000 ล้านบาท ซึ่งหากผลประกอบการงวดไตรมาส 4 ปี 2562 ยังคงติดลบและขาดทุนต่อเนื่องมาถึงปีนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องเพิ่มทุนภายในปีนี้หรือต้นปีหน้า
นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ราคาหุ้นการบินไทยที่ปรับตัวลดลงน่าจะเกิดจากผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้ต้นทุนสายการบินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดว่ามีโอกาสที่ผลประกอบการของบริษัทปีนี้จะขาดทุนมากกว่าที่คาดไว้ราว 6,000 ล้านบาท หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงกว่าสมมุติฐานที่ให้ไว้ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำ “ขาย” เนื่องจากยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก