รัฐเร่งเอกชนลงทุนนอก เบรกร้อนแรง 'บาทแข็ง'
ในวันนี้คงต้องบอกเลยว่า บาทแข็ง กระทบทุกภาคส่วนจริงๆ ในมุมของภาคเอกชนคงต้องเร่งหาทางออกด้านธุรกิจ เพราะการส่งออกก็รับผลกระทบมากเต็มๆ จะให้นำเข้าเครื่องจักรมาลงทุน แต่ดีมานด์ก็ยังไม่สู้ดี ทำให้แนวโน้มคงต้องมองหาโอกาสไปลงทุนต่างประเทศ แต่คงต้องคิดให้ดี
ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะนี้ดูเหมือนรัฐบาลกำลัง "โฟกัส" แนวทางการแก้ไขปัญหาไปที่การสางปัญหา "ค่าเงินบาท" ที่แข็งค่าในรอบกว่า 6 ปี ทำให้รายได้จากการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักกว่า 70% ในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปรับตัวลดลง โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า เกิดจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นการวัดเงินเข้า-เงินออกประเทศจากดุลการค้า (การส่งออกลบการนำเข้าสินค้า) และบริการ เช่น การท่องเที่ยว บริการทางการเงิน และอื่นๆ
สะท้อนว่าแม้มูลค่าการส่งออกของไทยจะติดลบต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออก 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2562 ยังติดลบต่อเนื่องที่ 2.77% แต่มูลค่าการนำเข้ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ยังเกิดจากเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมองไทยเป็น "สวรรค์ของการพักเงิน" หรือ เซฟเฮฟเว่น
การแก้ไขปัญหาบาทแข็งค่าแนวทางหนึ่ง คือ ผลักดันเงินทุนไหลออกนอกประเทศ โดยการเร่งให้ภาคเอกชนไทย รุกออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้น พร้อมไปกับการเร่งนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุน โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุชัดว่า กระทรวงการคลังกำลังเตรียมเสนอรัฐบาล เพื่อหามาตรการดูแลค่าเงินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ โดยการสนับสนุนทุนไทยออกออกไปลงทุนต่างประเทศ ก็อาจเป็นแนวทางหนึ่ง
ในวันเดียวกัน (13 ม.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้นโยบายชัดเจนกับบีโอไอ ให้หามาตรการเร่งการนำเข้าเครื่องจักร สินค้าทุน ในจังหวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว ยังทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศปรับตัวลดลง จากมูลค่าเครื่องจักร สินค้าทุน ที่ปรับลดลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า
อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนที่ผ่านมา ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยภาคเอกชนบางส่วนระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กลายเป็นกดดันสำคัญต่อการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุน เพราะจะมีประโยชน์ใดที่จะเร่งนำเข้าสินค้าทุนเหล่านี้ ในเมื่อ “ความต้องการ” ไม่ได้สอดรับกับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
เช่นเดียวกับในมุมของทุนไทยที่จะไปลงทุนต่างประเทศ การจะตัดสินใจออกไปลงทุน ย่อมต้องมองเห็นโอกาสการลงทุนก่อนเป็นอันดับแรก ถามว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากหลากปัจจัยรุมเร้า อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ผสมโรงกับเหตุการณ์ระอุในตะวันออกกลาง ระหว่างสหรัฐและอิหร่าน เหล่านี้ล้วนเป็น "ตัวแปร" ที่ทำให้ภาคเอกชนไทยหลายรายที่คิดจะออกไปลงทุนต่างประเทศต้องคิดหนัก เพราะหากออกไปลงทุนจริงๆ แล้ว โอกาสตลาดไม่เอื้อ แน่นอนรัฐคงไม่รับผิดชอบต่อการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาดนี้ ดังนั้นมาตรการใดๆ ที่รัฐจะออกมาเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยเฉพาะการผลักดันการลงทุน หรือนำเข้าเครื่องจักร สินค้าทุน ประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงก่อนใคร นั่นคือเรื่องของ "ดีมานด์"