ธปท. รับ 5 ปี ทุนสำรองพุ่ง 8 หมื่นล้านดอลลาร์ เหตุแทรกแซงเงินบาท

ธปท. รับ 5 ปี ทุนสำรองพุ่ง 8 หมื่นล้านดอลลาร์ เหตุแทรกแซงเงินบาท

แบงก์ชาติ ยอมรับ 5 ปี แทรกแซงค่าเงินมาตลอด จนทุนสำรองเพิ่มกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ แนะทุกฝ่ายต้องร่วมแก้บาทแข็ง จี้เอกชนฉวยจังหวะนำเข้าเครื่องจักร-คืนหนี้ต่างประเทศ

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัด Media Briefing ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เหตุผลหลักคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกสูงกว่ารายจ่ายจากการนําเข้า

นอกจากนี้ ความเข้าใจว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเก็งกําไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หากดูตัวเลขจะเห็นว่าการลงทุนของต่างชาติสุทธิทั้งปี 2019 แล้วเป็นการไหลออกโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้ธปท.ยังมีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจําเป็น

157897678875

1.การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของธปท. ในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ธปท. จะเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์ และขายเงินบาท โดยดอลลาร์ที่ซื้อเข้ามาอยู่ในรูปของเงินสํารองฯ เงินสํารองฯ ก็จะเพิ่มขึ้น หากต้องการชะลอการอ่อนค่า ธปท.จะขายดอลลาร์ที่อยู่ในเงินสํารองฯเพื่อซื้อเงินบาทเงินสํารองฯ ก็จะลดลง ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเงินสํารองฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทําให้ในปัจจุบันไทยมีเงินสํารองฯมากติด อันดับต้นๆของโลก สะท้อนว่าแบงก์ชาติได้มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดด้วยการซื้อเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2558-2562 เงินทุนสํารองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ หากธปท.ไม่ได้มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนสํารองฯ ก็จะไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทก็อาจจะแข็งกว่าระดับปัจจุบัน

2. การบริหารจัดการค่าเงินต้องให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว ถ้าเราเข้าแทรกแซงจนบาทอ่อนกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็เท่ากับเป็นการใช้ค่าเงินเพื่อให้สินค้าของไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งชั่วคราว ซึ่งไม่สามารถทําได้อย่างต่อเนื่อง และหากเป็นที่สังเกตุของประเทศอื่นๆก็อาจจะก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้าหรือการใช้มาตรการทางภาษี ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อภาคการส่งออกในระยะยาว

ส่วนที่มีข้อเสนอให้ใช้นโยบาย Quantitative Easing (QE) เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป นั้น ก่อนอื่นขอทําความเข้าใจว่าอะไรคือ QE การทํา QE เป็นการทํานโยบายผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ภาคเอกชนในประเทศจํานวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่อง ในระบบปรับสูงขึ้น โดยการทํา QE ของประเทศหลักมักดําเนินการในช่วงที่การส่งผ่าน นโยบายการเงินผ่านสถาบันการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริงไม่ทํางาน หรือ ประเทศกําลังเผชิญภาวะวิกฤต ซึ่ง QE จะช่วยลดต้นทุนในการกู้ยืมระยะยาวของภาคธุรกิจและครัวเรือน

ในกรณีของไทย ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูงมากอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ การทํา QE จะทําให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้นแค่กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น หากต้องการช่วยให้สภาพคล่องไปที่ SMEs มากขึ้น ภาครัฐอาจให้ soft loan ผ่านธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน จะเป็นมาตรการที่ตรงจุดและมีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่า

อกจากนี้มาตรการ QE ยังมีผลข้างเคียง เช่น เพิ่มความเหลื่อมล้ํา เพราะจะเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ถูกกว่า SMEs ซึ่งปัจจุบันก็มีต้นทุนที่ต่ำกว่าอยู่แล้ว และอาจทําให้เกิดการกู้ยืมจนเกินตัวของบริษัทต่างๆ ด้วย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องกับเสถียรภาพทางการเงิน

157897696034


3. ประเทศอื่นที่เกินดุลสูง มีการนําเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ ทําให้ค่าเงินไม่แข็งค่าขึ้นเท่าประเทศไทยไต้หวัน และเกาหลีเป็นประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงใกล้เคียงกับไทย แต่สกุลเงิน ของประเทศเหล่านั้นไม่แข็งค่าเท่าไรนัก เนื่องจากมีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยลดแรงกดดันจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยส่วนใหญ่เป็นการออกไปลงทุนของนักลงทุน สถาบัน เช่น ประกันชีวิต กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (pension funds) ขณะที่ไทยยังไม่มีการกระจาย การลงทุนไปต่างประเทศมากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและผลักดันให้มีเงินไหล ออกมากขึ้นในระยะถัดไป

4. ค่าเงินบาทแข็งมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินบาทที่แข็งค่ามีผลต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อผู้ส่งออกและผู้ที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง คือ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น เป็นประโยชน์สําหรับ ภาคเอกชนบางกลุ่ม ช่วยให้ธุรกิจมีต้นทุนนําเข้าเครื่องมือเครื่องจักรถูกลง ปกติไทยจะมีการนําเข้าเครื่องมือ เครื่องจักรปีละประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ดังนั้นทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ประเทศจะประหยัดไปได้ราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากธุรกิจที่เห็นโอกาสนี้จะสามารถสร้างความ ได้เปรียบคู่แข่งขันด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจากการนําเข้าเครื่องมือเครื่องจักรที่ถูกลง

ส่วนธุรกิจและประชาชนที่เป็นหนี้ต่างประเทศจะมีหนี้ลดลง อย่างตอนนี้ธุรกิจและประชาชน คนไทยมีหนี้ค้างจ่ายต่างประเทศอยู่ราว 1 แสนล้านดอลลาร์สรอ. ดังนั้น ทุก ๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ธุรกิจและประชาชนจะมีหนี้ลดลงประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งคนที่จะได้รับ ประโยชน์ก็คือคนที่จะชําระหนี้คืนนั่นเอง

เศรษฐกิจโดยรวม ปกติไทยนําเข้าน้ํามันดิบปีละประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สรอ. ดังนั้น ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนของประเทศไปได้เช่นกัน ซึ่งน้ำมันก็เป็นต้นทุนที่สําคัญของทั้งประชาชนและธุรกิจ

ปัญหาค่าเงินบาท ต้องแก้ไขให้ตรงจุด และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ธปท.และภาครัฐ ยังคงกังวลต่อสถานการณ์ โดยมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องถึงแนวทางในการช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า เป็นเพียงแค่อาการ ที่สะท้อนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทยการแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงนโยบายการคลังอื่นๆที่หวังผลระยะสั้นเป็นสิ่งที่จําเป็นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุของปัญหาเงินบาทแข็งค่า คือ การเกินดุลการค้าต่อเนื่อง การออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่ยังมีน้อย เป็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ

157897702767

1.เพิ่มการนําเข้า อาจจะผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีในช่วงที่ต้นทุนการนําเข้าจะถูกลงเพราะเงินบาทแข็ง
2. ลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) หรือ การหักชําระรายจ่ายและแลกเฉพาะส่วนที่เหลือ
3.สนับสนุนการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันจะมีส่วนช่วยให้เกิดแรงผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

ที่ผ่านมาธปท. ได้ดําเนินมาตรการบางส่วนเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นและผ่อนคลายกฏเกณฑ์กํากับดูการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศและสร้างสมดุลเงินทุน เคลื่อนย้ายซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท