ทำอย่างไรให้บาทอ่อน
จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ต้องเผชิญเงินบาทแข็งค่า กระทบกับธุรกิจต่างๆ หลายคนจึงเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรค่าเงินบาทถึงจะอ่อนลงได้ จะมีมาตรการอะไรที่จะมาช่วยเยียวเศรษฐกิจของเราได้อย่างทันทีทันใดหรือไม่
เงินตรา หรือ Currency เป็นสินทรัพย์ที่ประเมินมูลค่ายากมาก ยากกว่าหุ้น ยากกว่าหุ้นกู้ ยากกว่าสินทรัพย์ทางการเงินเกือบทุกประเภท
เพราะเราวัดมูลค่าเงินกันด้วยอัตราแลกเปลี่ยน เงินแต่ละสกุลจึงมีมูลค่าที่หลากหลาย อยู่ที่จะเทียบกับเงินสกุลไหน ไม่เหมือนหุ้น หรือสินทรัพย์อื่นที่มีแค่ราคาเดียว บางครั้งจึงยากที่จะบอกว่าเงินอ่อนไปหรือแข็งไป เพราะอาจแข็งเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่อ่อนเมื่อเทียบกับยูโร หรือเยน
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินมีค่อนข้างมาก และเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง ขึ้นอยู่กับตลาดการเงินในช่วงนั้น ว่าให้น้ำหนักกับปัจจัยไหนเป็นพิเศษ บางทีเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ค่าเงินกลับแข็งขึ้น บางประเทศขึ้นดอกเบี้ย แต่ค่าเงินกลับอ่อนลง
อีกทั้งเงินตราไม่มีตัวชี้วัดที่เป็นที่ยอมรับ ที่สามารถบอกได้ว่าแพงไปหรือถูกไป เหมือนสินทรัพย์อื่น เช่น หุ้น ที่ดูได้จากค่า P/E Ratio หรือ ตราสารหนี้ ที่ดูได้จากอัตราผลตอบแทน การหามูลค่าที่แท้จริงของเงินตราจึงทำได้ไม่ง่าย
เงินบาทก็เช่นกัน ผมไม่สามารถบอกได้ว่ามูลค่าเหมาะควรอยู่ที่เท่าไร แต่ที่รู้ก็คือ เงินบาทแข็งค่าขึ้นตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา จาก 36 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปลายปี 2558 มาอยู่ที่ 30 บาท เท่ากับแข็งค่าขึ้น 20% และไม่ใช่กับดอลลาร์อย่างเดียว แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักเกือบทั้งหมด เฉพาะในปี 2562 เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับยูโร ส่งผลให้เงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งที่สุดในเอเชีย
คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ ทำไมเงินบาทถึงแข็งได้ขนาดนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง เงินบาทน่าจะอ่อนค่าในปีที่ผ่านมา ถ้าดูจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจาก 4.1% เหลือ 2.5% ส่งออกที่หดตัวและดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงถึง 2 ครั้ง แต่ตลาดการเงินกลับไปให้ความสำคัญกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการเพิ่มขึ้นของเงินสำรองระหว่างประเทศ จึงทำให้เงินบาทกลายเป็นสกุลเงินปลอดภัย หรือ Safe-haven Currency ของภูมิภาค
ล่าสุด แบงก์ชาติเริ่มออกมาส่งสัญญาณว่าเงินบาทแข็งเกินไป ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ แน่นอนว่าเงินแข็งก็มีข้อดี เพราะทำให้เราซื้อของจากต่างประเทศ เช่น น้ำมัน ได้ถูกลง แต่ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่เราพึ่งพารายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวมากกว่า 70% ของ GDP ประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าจากค่าเงินที่อ่อน
คำถามที่ตอบยากที่สุด คือจะทำอย่างไรให้เงินบาทอ่อนลง เพราะไม่มีสูตรสำเร็จในการทำให้ค่าเงินอ่อนหรือแข็ง โดยเฉพาะกับระบบค่าเงินลอยตัวแบบที่เราใช้อยู่ ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ออกมาตราการมากมาย เช่น อนุญาตให้ผู้ส่งออกไม่ต้องรีบนำเงินกลับเข้าประเทศ อนุญาตให้คนไทยเอาเงินออกไปลงทุนได้มากขึ้น ฯลฯ แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของค่าเงินได้
ผมเชื่อว่าหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาคือ เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศมากเกินไป ข้อมูลล่าสุดเรามีเงินสำรองฯ อยู่ 221,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถ้ารวมกับสัญญาซื้อเงินสำรองฯ ล่วงหน้าสุทธิอีก 33,271 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เราจะมีเงินสำรองฯ มากถึง 254,307 ล้านเหรียญ
เราจำเป็นต้องมีเงินสำรองฯ มากขนาดนี้ไหม? อันดับแรก กฎหมายเงินตรากำหนดให้แบงก์ชาติต้องมีเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่า 60% ของมูลค่าธนบัตรออกใช้ ซึ่งธนบัตรในระบบมีอยู่ 1.9 ล้านล้านบาท เท่ากับเราต้องมีเงินสำรองฯ 38,000 ล้านเหรียญไว้หนุนหลังธนบัตร
อันดับสอง เราต้องมีเงินสำรองฯ ไว้รองรับการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งหนี้ก้อนนี้มีมูลค่า 59,000 ล้านเหรียญ และสุดท้าย เราต้องมีเงินสำรองฯ ไว้รองรับการนำเข้าสินค้าประมาณ 3 เดือน ตามเกณฑ์สากล ซึ่งจะเท่ากับ 54,000 ล้านเหรียญ
รวมกันทั้งหมด เราต้องมีเงินสำรองฯ 151,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แปลว่าเรามีเงินสำรองฯ เกินอยู่ถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (และจะเกินมากกว่า 100,000 ล้านเหรียญ ถ้านับรวมสัญญาซื้อล่วงหน้า) จึงไม่น่าแปลกใจ ทำไมต่างชาติถึงมองเงินบาทเป็น Safe-haven Currency
ดังนั้น ถ้าอยากให้เงินบาทอ่อนค่าลงทันที ก็ต้องใช้วิธีลดเงินสำรองฯ ซึ่งวิธีนี้เคยใช้กันมาแล้วในหลายประเทศ โดยการโยกเงินสำรองฯ ส่วนเกินจำนวนหนึ่ง ออกมาจัดตั้งเป็น Sovereign Wealth Fund หรือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ แล้วเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนในต่างประเทศ
แนวคิดการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯ ในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยพูดกันมานานแล้ว ผมเองก็เคยเสนอแนวคิดนี้เมื่อสองปีก่อน แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เร็วๆ นี้ เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านกลับมาผลักดันเรื่องนี้กันอีกรอบ ซึ่งผมสนับสนุน เพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และน่าจะเห็นผลได้เร็วที่สุด
ขั้นแรก เราอาจเริ่มต้นด้วยการโยกเงินสำรองฯ จำนวน 20,000 ล้านเหรียญ ออกมาจัดตั้งเป็นกองทุนความมั่งคั่งฯ โดยรัฐบาลออกพันธบัตรมูลค่า 600,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเงินจำนวนนี้จากแบงก์ชาติ (แบบเดียวกับที่จีนทำ) และกำหนดให้กองทุนนี้ลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด วิธีนี้จะทำให้ค่าเงินอ่อนลงทันที จากนั้น รัฐบาลควรต้องจ้างเอกชนเข้ามาบริหารกองทุนนี้ เพื่อป้องกันการใช้เงินผิดประเภท และป้องกันการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในอนาคต
ผมเชื่อว่าถ้าเราบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งฯ นี้อย่างมืออาชีพและโปร่งใส ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในแต่ละปี จะสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรที่รัฐต้องจ่าย ซึ่งก็จะไม่เป็นภาระต่องบประมาณ และผลพลอยได้ก็คือ การได้เรียนรู้ Know-how ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ จากธุรกิจในต่างประเทศที่เราเข้าไปลงทุน ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป