ดีล 'สหรัฐ-จีน' เฟส1ดัน ภาค 'ส่งออก' ทำเศรษฐกิจปี 2563 สดใส

ดีล 'สหรัฐ-จีน' เฟส1ดัน  ภาค 'ส่งออก' ทำเศรษฐกิจปี 2563 สดใส

การลงนามในข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรก หรือดีล 'สหรัฐ-จีนเฟส1' ที่นับเป็นข่าวใหญ่รับปีใหม่ มีหลายฝ่ายวิเคราห์ว่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจปี 2563 แต่สิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็นจริง เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่

การลงนามในข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรก (Economic and Trade Agreement between the United States of America and the Peoples Republic of China Phase 1)  ระหว่างสหรัฐฯ และจีน หรือ 157924267487 เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563 ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และรองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ว่า ความตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นเศรษฐกิจการค้าสำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายโอนเทคโนโลยีการขยายการค้า การค้าสินค้าเกษตรและอาหาร บริการทางการเงิน นโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคและอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการดำเนินการระงับข้อพิพาท

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มองว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้บรรยากาศความตึงเครียดทางการค้าลดลง ซึ่งก็จะช่วยให้ภาคการส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจปี2563

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯระบุว่าจะยังไม่มีการพิจารณาลดภาษีการค้าเพิ่มเติมจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯจะมีในปลายปีนี้ ดังนั้นต้องจับตาดูว่าสหรัฐจะมีการเรียกร้องอะไรจากจีนเพิ่มมากขึ้นเพื่อเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศในเฟสที่ 2 หรือไม่ ทำให้ประเด็นนี้อาจจะกดดันการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกในระยะถัดไปได้ รวมถึงอาจกระทบต่อเศรษฐกิจปี2563 ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปด้วยเนื่องจากเยอรมันมีสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ในอังกฤษมีประเด็นในเรื่องของเบร็กซิทที่ยังไม่ยุติ

“หากพิจารณาจากโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยถือว่ามีข้อจำกัดมากเพราะสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าในตลาดโลกเมื่อเศรษฐกิจและการค้าโลกมีปัญหาสินค้าส่งออกของไทยก็ถูกกระทบไปด้วย ไทยไม่ค่อยมีสินค้าที่เป็น stand alone ที่ส่งออกได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องกังวลถึงการกีดกันทางการค้า”

ดังนั้นจึงต้องมีการเร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชนโดยใช้โอกาสในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ผลักดันการลงทุนทั้งของรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนซึ่งจะสามารถช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาท ถือว่าเป็นการช่วยให้การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากช่วยลดภาระการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการส่งออกและการนำเข้า โดยที่ผ่านมาการนำเข้าสินค้าของภาคเอกชนลดลงส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะมีผลต่อเศรษฐกิจปี2563

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ดีลสหรัฐ-จีน เฟส 1หากสถานการณ์การค้าเป็นไปตามข้อตกลงก็น่าจะส่งผลดีต่อการเจรจาในเฟส 2 ที่การเจรจาจะง่ายขึ้นโดยเฉพาะการลดภาษีสินค้าประเภทต่างๆเพราะจีนจะสามารถส่งสินค้าไปยังสหรัฐได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการเกิดสงครามการค้า จีนเองก็ไม่นิ่ง มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเอเชียและอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ซึ่งทำให้ยอดการส่งออกของเวียดนามพุ่งทะลุสูงกว่าประเทศไทย

 “การค้าโลกและเศรษฐกิจปี2563ได้รับอานิสงค์จากการลงนามในเฟสแรก แต่สงครามการค้ายังไม่ยุติเพราะยังมีเฟส 2 เฟส 3 อีก เพียงแต่ความตึงเครียดก็เบาบางลงไป และคงต้องจับตาเฟส 2 ต่อไปว่า สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้อีกหรือไม่"

 เนื่องจาก ช่วงปลายปีจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้เสมอ แต่หากประเมินในขณะนี้จะพบว่าสงครามการค้าคงไม่ได้แย่ไปกว่าเดิม เพียงแต่จะได้เห็นความชัดเจนของการย้ายฐานการผลิตของจีนมากขึ้น

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดีลสหรัฐ-จีน เฟส 1  157924292786 คาดว่ามูลค่าการค้าโลกปี2563จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1-0.2 % เนื่องจากสหรัฐยังคงเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอยู่

ส่วนไทยนั้นผลกระทบทางการค้าก็ยังมีอยู่โดยเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ที่จีนจะต้องไปซื้อจากสหรัฐมากขึ้น กลุ่มเกษตร เช่น อาหารทะเล จะได้รับผลกระทบบ้างที่จีนจะไปซื้อจากสหรัฐ

 

 

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่าเศรษฐกิจปี2563ประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ น่าจะได้อานิสงส์จากดีลสหรัฐ-จีน เฟส 1และเมื่อเสริมกับพื้นฐานสินค้าและตลาดส่งออกของไทยที่ดีและมีความหลากหลาย จะเป็นแรงเสริมให้กับการค้าและการส่งออกของไทยโดยภาพรวม

นอกจากนี้ ดีลสหรัฐ-จีน เฟส 1  157924269377 ไม่ได้ระบุเงื่อนไขให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ไทยจึงควรเร่งใช้โอกาสในการทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ต่อไป โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยสามารถทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนได้ดี เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง
ในประเด็นที่บางส่วนมีความกังวลว่าสินค้าบางกลุ่มอาจเผชิญการแข่งขันสูงขึ้นในตลาดจีนนั้น สนค. ตั้งข้อสังเกตว่า สินค้าภายใต้ข้อตกลงที่จีนต้องซื้อเพิ่มจากสหรัฐฯ หลายรายการ สอดคล้องกับความต้องการของจีนและยังมีช่องว่างสำหรับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ อาทิ เนื้อสัตว์ ฝ้าย อาหารทะเล ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ และถ่านหิน

ขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และส่วนประกอบ อาจเผชิญการแข่งขันมากกว่ากลุ่มข้างต้นจากปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และการพัฒนา/ควบคุมมาตรการการผลิต ซึ่งแม้ว่าโดยส่วนใหญ่สินค้าไทยยังมีความได้เปรียบสินค้าประเทศอื่นในตลาดจีน สะท้อนจากดัชนี Revealed Comparative Advantage (RCA) แต่ก็ไม่ควรละเลยการรักษาตลาดและเร่งปรับตัวให้ทันกับปัจจัยรอบด้านที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้
ทั้งนี้ สนค. จะศึกษารายละเอียดสินค้าภายใต้ข้อตกลงฯ เพื่อประเมินผลกระทบและชี้ช่องโอกาสการส่งออกเพิ่มเติม ให้สอดรับนโยบายและมาตรการเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ในการรุกตลาดเดิม ขยายตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่า รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ และเดินหน้าขยาย FTA กับคู่ค้าศักยภาพ รวมทั้งจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อตกลงระยะแรก และการหารือประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่จะอยู่ในข้อตกลงระยะถัดไป (Phase Two) เช่น การอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ การคุกคามทางไซเบอร์ การเลือกปฏิบัติต่อการค้าดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความท้าทาย และอาจถูกใช้ในการรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อไป