ถอดบทเรียน 130 ปีคูโบต้า มุ่งหน้าสู่เกษตรนวัตกรรม
ถอดบทเรียน 130 ปี ของคูโบต้า และแนวทางธุรกิจจากคำกล่าวของผู้ก่อตั้ง "ผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้มีความหมายอะไรเลย หากไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะดีแค่ไหนก็ตาม รวมถึงจะไม่มีการเติบโตใดๆ โดยปราศจากนวัตกรรม"
คำว่า "พัฒนา" ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน มีความหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิมๆ เพราะถ้าจะพัฒนาต้องมีคำว่ายั่งยืนตามมาด้วย ดังนั้นองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการยืนหยัดธุรกิจอยู่ต่อไปต้องเสริมปัจจัยดังกล่าวเข้าไปด้วย แต่หากเป็นองค์กรที่มีอายุยาวนานมากกว่า 100 ปี จะมีนิยามของคำว่าพัฒนาที่สามารถถอดบทเรียนมาได้อย่างน่าสนใจ
ยูอิจิ คิตาโอะ ประธานและกรรมการบริหารบริษัท คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น กล่าวปาฐกถาในงาน 130th Anniversary Event of KUBOTA. &KUBOTA Exhibition ว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทคูโบต้า ในปี 1890 ที่ กอนชิโร คูโบตะ ขณะนั้นมีอายุเพียง 19 ปี ได้เริ่มก่อตั้งโรงงานเหล็กหล่อ และในช่วงเมจิที่ 23 เกิดการระบาดของอหิวาตกโรค จึงต้องการระบบน้ำประปาที่ดี แต่มีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลักจึงสนใจที่จะผลิตขึ้นใช้เอง
โดยมีปรัชญาในการประกอบธุรกิจ คือ “เราต้องทำให้ได้” และ “อย่ากลัวความล้มเหลว” จนประสบความสำเร็จเป็นโรงงานท่อน้ำแห่งแรกที่ญี่ปุ่นในปี1922 ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเกษตรกรก็ประสบปัญหาภัยแล้งบริษัทฯ ได้ริเริ่มพัฒนาเครื่องยนต์ต้นกำเนิดกำลังเครื่องแรก เพื่อช่วยสูบน้ำในการทำนา ต่อมาในปี 1947 จึงได้พัฒนาสินค้ารถไถนาเดินตาม เพื่อแก้ปัญหาเรื่องอาหารขาดแคลนในประเทศญี่ปุ่นช่วงนั้น เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นให้ดีขึ้น
ปัจจุบันคูโบต้ากว่า 120 ประเทศทั่วโลก จึงได้ยึดถือ Brand Statement ที่ว่า For Earth For Life ที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ ในวาระครบรอบ 130 ปี ได้ขยายความรับผิดชอบทางสังคม หรือ CSR ให้สอดคล้องกับแนวคิด Sustainable Development Goals หรือ SDG’s ของสหประชาชาติ มุ่งสร้างการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน เพื่อตอบแทนสังคมใน 3 ด้าน ได้แก่ อาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ในการดำเนินธุรกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า (2030) คูโบต้าจะมุ่งเน้นการสร้าง GMB (Global Major Brand) หรือการเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาด ด้วยการวิจัยและพัฒนา ทั้งผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้ รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี
คูโบต้าได้วางแผนระยะสั้น 5 ปีให้สอดคล้องกับแนวทางที่ต้องการมุ่งไปถึงในปี 2030 ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ต่างๆ ที่สะสมมายาวนานกว่า 130 ปี ในการพัฒนาเป็นโซลูชั่นที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าคูโบต้าทั่วโลก
อีกทั้งปัจจุบันทั่วโลกต่างก็เผชิญสิ่งที่เรียกว่า Game Change ในหลายๆ ธุรกิจของคูโบต้าก็ได้รับผลกระทบ จึงต้องทบทวนศักยภาพด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่องของ Digital Transformation เข้ามาใช้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ไปเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้กับลูกค้า
สอดคล้องกับคำกล่าวของกอนชิโร ผู้ก่อตั้ง ว่า “ผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้มีความหมายอะไรเลย หากไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะดีแค่ไหนก็ตาม รวมถึงจะไม่มีการเติบโตใดๆ โดยปราศจากนวัตกรรม
รวมทั้งคูโบต้าจะขยายขอบเขตให้กว้างขึ้นในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการเกษตรกรรมอัจฉริยะจากคูโบต้า หรือKSAS (KUBOTA Smart Agri System) และ ด้านการจัดการสาธารณูปโภคอัจฉริยะจากคูโบต้า หรือ KSIS (KUBOTA Smart Infrastructure System) โดยในปี 2562 คูโบต้าคอร์ปอเรชั่นได้ลงทุนก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ในเมืองซาไก เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต มุ่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของ KUBOTA Innovation Center ในระดับโลก
“ผมเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งนวัตกรรมสู่อนาคตของคูโบต้า เพื่อวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคเกษตรกรรม”
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาคูโบต้าคอปอเรชั่นมีรายได้รวม มูลค่า 1.8 ล้านล้านเยน แยกเป็นส่วนของฟาร์ม 83% มูลค่า 1.5 ล้านเยน ส่วนอื่น 2.9 หมื่นล้านเยนโดยภูมิภาคที่ทำรายได้มากที่สุดญี่ปุ่น สหรัฐและเอเชีย
สมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอนาคต เช่นแทรกเตอร์ไร้คนขับ ที่มีกำลังแรงม้าสูง ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานแทนน้ำมัน เป็นการผลักดันเข้าสู่เทคโนโลยีขั้นสูงสามารถทำงานด้วยตนเอง มีระบบ IOT เข้ามาช่วย ซึ่งในประเทศไทยได้เห็นชัดและเริ่มต้นไปแล้วด้วยระบบ KSAS ที่นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับแปลงและแต่ละรอบของการทำเกษตร
“ปีที่ผ่านมาสยามคูโบต้าฯก็มีรายได้ตามเป้าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา 55,000 ล้านบาท สามารถจำหน่ายรถแทรกเตอร์ได้ 3 หมื่นคัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ เพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น“
สำหรับในปี 2563 นี้ เป้าหมายรายได้ต้องหารืออีกครั้ง ซึ่งบริษัทยังมีข้อกังวล เรื่องภัยแล้ง ที่เกษตรกรไม่สามารถทำนาปรังได้ ส่วนนาปีอาจต้องล่าช้าออกไป เบื้องต้นเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัทได้เตรียมรับมือ ด้วยการร่วมมือกับภาครัฐบาลสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดหลังนา เพื่อทดแทนการนำเข้า การปลูกถั่วเหลือง การปลูกถั่วเขียว ที่สามารถเป็นพืชบำรุงดิน เป็นต้น