“สมคิด” สั่งเร่งรัดการลงทุน-เจรจาการค้าต่างประเทศ
“สมคิด” นั่งหัวโต๊ะนั่งประชุม คกก.เร่งรัดการค้าการลงทุนนัดแรก เผยคลังพร้อมชงมาตรการกระตุ้นการลงทุนควบแพคเกจบีโอไอมั่นใจกระตุ้นการลงทุนได้เกินแสนล้านในปีนี้ สั่งคมนาคมเร่งโครงการปี 63 พร้อมเร่งเจรจาการค้าการลงทุนเอฟทีเอไทย-อียู
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุนที่ทำเนียบรัฐบาลว่าได้เร่งรัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในเรื่องที่จำเป็นและมีความสำคัญซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินการในปี 2563 โดยประการแรกกระทรวงการคลังได้รายงานความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นการลงทุนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีที่จะให้สิทธิ์ประโยชน์กับภาคเอกชนที่มีการลงทุนในการนำเข้าเครื่องจักรการผลิตและสินค้าทุนโดยให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 1.5 เท่า
การลงทุนจากภาคเอกชนได้ 1 แสนล้านบาทเมื่อมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการจูงใจที่มากขึ้นก็คาดว่าจะมีการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น โดยมาตรการนี้จะออกมาควบคู่กับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบีโอไอเร็วๆนี้โดยเน้นการลงทุนในประเทศ
สำหรับเรื่องการเร่งรัดการลงทุนได้หารือกับกระทรวงคมนาคมให้เร่งรัดโครงการที่จะลงทุนได้ในปี 2563 โดยขณะนี้โครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดคือโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม - บางขุนนนท์) ส่วนการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ได้สั่งการให้เร่งรัดการลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) และโครงการสมาร์ทซิตี้ในอีอีซีโดยให้สำนักงานอีอีซีจัดทำร่างทีโออาร์ให้แล้วเสร็จใน 1 - 2 เดือน
ส่วนโครงการการลงทุนที่สำคัญเรื่องโทรคมนาคมคือโครงการประมูลคลื่นความถี่ 5 จี ซึ่งประเทศไทยจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ในปีนี้ทั้งการประมูลและการลงทุนต่อเนื่องซึ่งในวันที่ 27 ม.ค.นี้จะเดินทางไปยังสำนักงาน กสทช.เพื่อหารือในเรื่องนี้ และเชิญผู้ประกอบการเอกชนที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อให้เกิดการลงทุนทั้งการประมูลคลื่นความถี่และการลงทุนที่เกี่ยวข้อง
นายสมคิดกล่าวว่าในส่วนของการเจรจาทางการค้าได้กำหนดการเจรจาการค้า 3 กรอบที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญในปีนี้ได้แก่ การเจรจาการค้าในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดสรุปการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP และจะมีการตั้งกองทุนเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันจะเร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ไทย - สหภาพยุโรป และเอฟทีเอไทย - ฮ่องกง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องเร่งรัดในการเจรจาเพื่อสร้างโอกาสในการค้าของประเทศมากขึ้น