รัฐบาลกับโจทย์ท้าทาย เคลื่อน 'รัฐนาวา' ฝ่าพายุเศรษฐกิจปี 63

รัฐบาลกับโจทย์ท้าทาย เคลื่อน 'รัฐนาวา' ฝ่าพายุเศรษฐกิจปี 63

 ปี 2563 เริ่มต้นมาได้ยังไม่ถึงหนึ่งเดือนดีแต่ถือว่าเป็นปีที่เริ่มต้นด้วยบรรยากาศไม่สดใส ยังไม่ค่อยมี “ข่าวดี” หรือ “ปัจจัยบวก”ให้กับเรื่องเศรษฐกิจมากนัก

ความท้าทายต่อเศรษฐกิจที่ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านจนทำให้เกิดความหวาดเกรงว่าจะเกิดความไม่สงบในตะวันออกกลาง ตามด้วยโรคอุบัติใหม่ไวรัสโคโรน่า ปัญหาฝุ่นควันพิษ และล่าสุด พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่นอาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความว่าเป็นโมฆะหรือไม่จากปัญหาการเสียบบัตรแทนกัน

ประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และกระทบต่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งพิสูจน์ฝีมือในการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศฟันฝ่าความเสี่ยงต่างๆที่ถาโถมเข้ามาเหมือนพายุได้อย่างไร

ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือ “นิด้า”กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.5 – 2.7% เท่านั้น โดยเศรษฐกิจยังถูกกดดันเรื่องการส่งออกจากปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่า และสงครามการค้าที่สหรัฐฯจะกดดันจีนอีกในการเจรจาเฟสที่ 2 ดังนั้นการส่งออกของเราที่พึ่งพาประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน หากเศรษฐกิจโลกดีขึ้นการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะดีขึ้นได้บ้างแต่การขยายตัวในภาคการส่งออกยังไม่ง่ายนัก

157986790337

ดร.มนตรีบอกว่าถ้าเศรษฐกิจโลกดีรัฐบาลนั่งเฉยๆเศรษฐกิจของประเทศก็ไปได้ขอแค่ประคองการเมืองภายในไว้ให้ดีอย่าให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งจนกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีเหมือนในปัจจุบันการทำงานของภาคส่วนต่างๆทางเศรษฐกิจต้องสอดรับกัน การบริหารประเทศรัฐบาลเป็นผู้ขับบังคับเรือ มีสภาผู้แทนคอยคัดท้ายเรือให้รัฐบาลขับเรือไปถูกทิศทางตามนโยบายที่ได้มีการแถลงไว้ ภาคเอกชน ประชาชนช่วยกันพายเรือผ่านการลงทุน ใช้จ่าย อุปโภคบริโภค ถ้าเอกชน ประชาชนไม่มีแรงพาย ไม่มีแรงใช้จ่ายก็เหลือหน้าที่คนขับเรือซึ่งก็คือรัฐบาลที่ต้องเร่งการใช้จ่าย

ส่วนรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยังควรที่จะรักษาความเป็นอิสระระหว่างกันไม่ควรให้ต่างชาติเข้าใจเราผิดว่าเราไปบิดเบือนกลไกค่าเงิน เพราะการที่แบงก์ชาติมีกลไกค่าเงิน อัตราดอกเบี้ยที่จะใช้อยู่แล้ว แบงก์ชาติมีกรอบเรื่องเงินเฟ้อ 1 -3% เป็นการบีบกรอบเข้ามาแล้วถือเป็นการกำหนด inflation targeting policy การกำหนดกรอบไว้แล้ว การทำงานและถ่วงดุลกันระหว่างนโยบายการเงินและการคลังยังถือว่ามีความจำเป็น

แม้ปัจจัยผลกระทบบางเรื่องจะมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ในทางลบและปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่องย่อมเป็นเครื่องมือพิสูจน์ความสามารถของผู้บริหารในการคิด วางแผน ตัดสินใจ และขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติเสมือนกับการขับเคลื่อน“รัฐนาวา”หรือ“เรือ”ที่กำลังแล่นผ่านลมพายุ

...หากประคองเรือไปได้ไม่ดี อย่าว่าแต่แข่งเรือกับประเทศอื่นได้ เรือลำนี้ก็อาจจะล่มลงกลางพายุเศรษฐกิจนี้ได้เช่นกัน