'หุ้นไทย' ม.ค.ร่วงเฉียด 100 จุด สารพัดปัจจัยลบกระหน่ำ จับตาก.พ.รูดต่อให้แนวรับ 1,480 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือน ม.ค. ปี 2563 แกว่งตัวลงจากจุดสูงสุดเกือบ 100 จุด จากปัจจัยลบรุมกระหน่ำต่อเนื่อง นักวิเคราะห์ประเมินเดือน ก.พ. แกว่งตัวในกรอบ 1,480 – 1,550 จุด จับตาสถานการณ์ไวรัสโคโรนา และ พ.ร.บ.งบประมาณ
ช่วงเดือน ม.ค. ปี 2563 ที่ผ่านมา ดัชนี SET วิ่งขึ้นไปแตะ 1,604.28 จุด ก่อนจะดิ่งลงต่อเนื่องมาทำจุดต่ำสุดที่ 1,507.36 ลดลงมา 96.92 หรือลดลง 6% จากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุด โดยกลุ่มดัชนีที่กดดันให้ตลาดปรับตัวลดลงมาสุดคือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่ลดลงประมาณ 10% จากแรงกดดันของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ลดลงกว่า 13%
ขณะที่กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ เป็นกลุ่มที่กดดัชนีรองลงมา ลดลง 5.6% จากการหดตัวของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง 8.7% ส่วนกลุ่มเทคโนโลยี และก่อสร้าง เป็นอีก 2 กลุ่มที่ปรับตัวลดลงกว่า 4% ในช่วงเดือนแรกที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัชนี SET ล่าสุด ปิดที่ 1,514.14 ลดลง -9.85 หรือ -0.65%
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นได้สวนทางกับตลาด ได้แก่ หมวดธุรกิจการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 6% หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นกว่า 3% หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 2% และหมวดกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นกว่า 1%
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ค่อนข้างผิดไปจากที่ตลาดประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ จากการที่ดัชนีปรับตัวลดลงเกือบ 100 จุด หลังจากไปแตะ 1,600 จุด ในช่วงแรก ปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ตลาดปรับตัวลงล่าสุดคือ การระบาดของไวรัสโคโรนาที่ยังบานปลายต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศก็ไม่ดีนัก ไล่มาตั้งแต่ปัญหาภัยแล้งที่น่าจะฉุดรายได้ของเกษตรกรให้ลดลง การชะงักของพ.ร.บ.งบประมาณในปีนี้ ซึ่งเดิมทีคาดหวังว่าจะเป็นปัจจัยหนุน รวมถึงผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในรายละเอียดซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เพราะการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวเร็วกว่าคาด เป็นปัจจัยเร่งให้เงินลงทุนต่างชาติไหลออกเร็วขึ้น
ภาพของเดือน ก.พ. จึงน่าจะเห็นตลาดหุ้นยังคงผันผวนต่อเนื่อง เพราะความกังวลเหล่านี้ยังไม่ได้หมดไป สำหรับยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาอาจจะเห็นจุดพีคได้ หลังจากที่พุ่งขึ้นวันละ 20 – 30% มาต่อเนื่อง ส่วนผลประกอบการของตลาดมีแนวโน้มจะลดลงจากระดับ 103 บาทต่อหุ้น มาอยู่ที่กว่า 99 บาทต่อหุ้น ทำให้มูลค่าของ SET เริ่มตึงตัวในเวลานี้
“สถิติ 9 ใน 10 ปีย้อนหลัง ชี้ว่าหุ้นไทยเดือน ก.พ. ปรับขึ้นเฉลี่ย 2.4% แต่ปีนี้ต้องยอมรับว่าปัจจัยต่างๆ ไม่ค่อยดีนัก ขณะที่ฟันด์โฟลว์ก็ยังไหลออก โดยรวมมองกรอบดัชนีเดือนนี้ 1,480 – 1,550 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดต่อจากนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ส่วนที่เหลือจะเป็นปัจจัยในประเทศที่ยังน่ากังวล”
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่จะเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งโอกาสในการลดดอกเบี้ยของ กนง.ในวันที่ 5 ก.พ. นี้ ซึ่ง ธปท.อาจจะตัดสินลดดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีหนี้สินอยู่เดิมไม่ต้องผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงการประมูล 5G ในวันที่ 16 ก.พ. นี้ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันหรือไม่ และการแข่งขันจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด
ส่วนเรื่องของ พ.ร.บ. งบประมาณ น่าจะเป็นความหวังของการฟื้นตัวในช่วงถัด หากศาลสามารถตัดสินได้เร็ว และหาทางออกในการเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ ก็จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้น
ขณะที่ บล.เอเซียพลัส มองว่า ประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (EPS Growth) มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบลบ และจะนำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน อาทิ การชะลอตัวของผลประกอบการในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มโรงแรม และกลุ่มธุรกิจการบิน นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบอันเนื่องมาจากการใข้มาตรฐานการบัญชี TFRS16 เรื่องสัญญาเช่า ซึ่งมีผลต่อทั้งงบกำไรขาดทุน และโครงสร้างการเงิน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Real Sector บางส่วนที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ทั้งนี้ ตามประมาณการเดิมของฝ่ายวิจัยคาดว่า กำไรสุทธิงวดปี 2563 จะอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ระดับ 95.7 บาทต่อหุ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยมีแผนที่จะปรับลดประมาณการตัวเลขกำไรสุทธิ และกำไรต่อหุ้น ปี 2563 ดังกล่าว หลังการประกาศงบการเงินงวดปี 2562