กำไรแบงก์ 'ส่อร่วง' รับกนง. หั่นดอกเบี้ย
“โบรกเกอร์” คาดกำไรกลุ่มแบงก์ส่อลดลงอีก หากกนง. ปรับลดดอกเบี้ยในวันที่ 5 ก.พ.นี้ “ทิสโก้” คาดกรณีแย่สุด แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งกระดาน 0.25% แต่คงดอกเบี้ยฝาก ฉุดกำไรหนักสุด 7-11.5% ด้าน “ทรีนีตี้” เตรียมปรับลดคาดการณ์ปีนี้อีกรอบ
จากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบรอบด้าน โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้า ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 5 ก.พ.นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์
นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า คาดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ก.พ. นี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในอัตรา 0.25% หรือ 0.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา รวมถึงยังมีผลกระทบจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า หากมีการปรับลดดอกเบี้ยลง หุ้นที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่จะทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ปรับตัวลดลง
นางสาวยุวนารถ สุวรรณอำไพ นักวิเคราะห์อาวุโส บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ฝ่ายวิเคราะห์ของบริษัทประเมินว่าการประชุมกนง.ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ มีโอกาส 70% ที่จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมีปัจจัยลบกดดันเศรษฐกิจหลายปัจจัย ทั้งภัยแล้ง การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า ซึ่งหากปรับลดดอกเบี้ยตามคาด จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์แต่เชื่อว่าไม่มาก เพราะตลาดคาดว่ากนง.รอบนี้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยอยู่แล้ว อีกทั้งราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงมามากแล้ว ส่วนผลกระทบต่อกำไรสุทธิ คาดว่าจะลดลงน้อยกว่า 5%
ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับลดกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หรือกลุ่มแบงก์ปี 2563 โดยไม่รวมธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ลงประมาณ 1% โดยได้รวมผลกระทบกนง.ลดดอกเบี้ย 5 ก.พ.นี้แล้ว หรือมีกำไรสุทธิ 170,551 ล้านบาท เนื่องจากสินเชื่อโตต่ำกว่าคาดไว้ เพราะเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัว และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง จากการแข่งขันที่ยังคงรุนแรง
ด้านบล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ จากปัจจัยลบใหม่ๆ ทั้ง การแพร่ระบาดของไวรัส, ความรุนแรงในตะวันออกกลาง และงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มออกมาปรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ลง และมีโอกาสที่กนง.จะลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 5 ก.พ.นี้
ทั้งนี้บริษัทประเมินผลกระทบต่อกำไรกลุ่มแบงก์ไว้ 3 กรณี คือ กรณีที่แบงก์ลด MLR และ MOR ลง 0.25% หลังจากที่ข้อมูลล่าสุดเผยว่า ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบมากกว่าผู้บริโภค ทำให้ธนาคารปรับลดดอกเบี้ยของกลุ่มพาณิชย์ลงก่อน และเพื่อลดผลกระทบเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ จะลดดอกเบี้ยเงินฝากลงชดเชยในส่วนของเงินฝากประจำ ทำให้ NIM จะลดลงเพียง 0.10% โดยจะส่งผลกระทบกำไรแบงก์ลดลง 0.6%-6.1%
กรณีดีกว่าคาด แบงก์อาจปรับดอกเบี้ยลงเพียง 0.125% และลดดอกเบี้ยเงินฝากโดยรวมลง 0.10% ทำให้ผลกระทบต่อกำไรของธนาคารลดลง 0.4%-3.0% และ กรณีแย่กว่าคาด คือ แบงก์ปรับลงทั้ง MLR, MOR และ MRR ลง 25 % และลดดอกเบี้ยเงินฝากไม่ได้ กรณีนี้ทำให้กำไรลดลง 7.3 ถึง 11.5% ยกเว้นธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ที่ลดลง 1.8% ทั้งนี้บริษัทแนะนำ ซื้อ KKP เพราะได้รับผลกระทบการลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าคู่แข่งและคุณภาพสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อที่ดีกว่าภาคธุรกิจ ให้ราคาเหมาะสมที่ 85 บาท
นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า หากกนง.ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จะส่งผลกระทบต่อกำไรของแบงก์ขนาดใหญ่ลดลงเฉลี่ย 3% จาก NIM ที่ลดลง ทำให้มีโอกาสที่บริษัทจะมีการปรับประมาณการกำไรกลุ่มแบงก์ลงอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ปรับลดลงไปเล็กน้อย จากที่คาดว่ากนง.จะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้