วางแผน ‘ภาษี’ ต่อไปอย่างไรดี เมื่อไม่มี LTF
หลังจากที่กองทุน LTF หมดสิทธินำไปลดหย่อนภาษีตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป และมีกองทุน SSF เข้ามาแทน รวมถึงยังมีกองทุน RMF ที่น่าสนใจ ควรจะวางแผนภาษีอย่างไรดี?
สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน ณ วันที่บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ ก็เข้าสู่เดือนที่ 2 ของปี 2020 แล้วนะครับ
ในช่วงหนึ่งเดือนแรกของปีนี้ มีคำถามที่ผมได้รับมาจำนวนมาก เกี่ยวกับแนวทางในการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่เราไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อ LTF มาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้อีกต่อไป หลายๆ ท่านคงมีคำถามว่าอย่างนี้ควรจะวางแผนลดหย่อนภาษีอย่างไรดี และ กองทุน SSF (Super Saving Fund) กับ RMF (Retirement Mutual Fund) นั้นควรจะเลือกลงทุนในกองทุนไหนดี ความแตกต่างของแต่ละกองเป็นอย่างไรบ้าง ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มี บลจ.ไหนได้ออกกองทุน SSF มาให้ได้เลือกลงทุนกันเลยก็ตาม แต่การวางแผนภาษีนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเสียแต่เนิ่นๆครับ
ดังนั้นวันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาบอกเล่าความเหมือนและความต่างของ SSF และ RMF ให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ
"ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในความเหมือนและความแตกต่างของกองทุนทั้ง 2 ตัวนี้กันเสียก่อนดีกว่าครับ อย่างแรกเลยคือ ยอดซื้อที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ของทั้งคู่นั้นอยู่ที่ 30% ของรายได้ แต่ SSF นั้นจะมีจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 200,000 บาท ต่างกับ RMF ที่มียอดจำกัดที่ 500,000 บาท (ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรือสามารถซื้อปีเว้นปีก็ได้) อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมยอด SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ เช่น กบข กบช แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เรื่องต่อมาที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ เรื่องระยะเวลาในการถือครองขั้นต่ำของแต่ละกองทุน (นับวันชนวัน) เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี โดยของ RMF นั้นจะต้องถือครองขั้นต่ำ 5 ปี และ สามารถขายได้เมื่อผู้ลงทุนมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และ ส่วนของ SSF นั้นจะอยู่ที่ 10 ปี โดยที่ไม่มีเงื่อนไขในตอนขายในส่วนของอายุ และไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องติดกันไปทุกปีเหมือนกับ RMF
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงจะเริ่มสงสัยแล้วว่าจะเลือกลงทุนใน SSF หรือ RMF ดี เพราะทั้งคู่ต่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ดังนั้นแล้ว ก่อนที่ทุกท่านจะตัดสินใจลงทุน คงจะมีเรื่องที่ต้องคำนึงไม่มาก หลักๆคงเป็นเรื่องของระยะเวลาในการลงทุน ระยะเวลาการถือครองต่างๆ รวมไปถึงสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นๆเลือกลงทุน
และอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ลงทุนห้ามลืมนำมาคิดเพื่อคำนวณภาษีเลยนั้นก็คือ ยอดของ SSF และ RMF เมื่อนำมารวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กบข, กบช, และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆต้องไม่เกิน 500,000 บาท เพราะหากยอดรวมเกิน 500,000 บาท จะทำให้ผิดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี ไม่สามารถนำเงินลงทุนส่วนที่เกินนั้นมาลดหย่อนภาษีได้ และหากจะขายคืนก่อนครบกำหนดนั้น กำไรที่ได้ก็จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีอีกด้วย
ส่วนข้อดีอีกอย่างหนึ่งของ SSF และ RMF ที่เหมือนกันก็คือ ทั้ง 2 กองทุนนั้นสามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ซึ่งต่างจากกองทุน LTF เดิมที่มีเงื่อนไขในการลงทุนว่าจะต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีความผันผวน ไม่แน่นอน ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทยดูไม่สดใส ทำให้การลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ที่มีการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นนอกเหนือจากหุ้นไทย เช่น ไปลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก หรือหุ้นกู้ต่างประเทศคุณภาพดี ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยครับ
และนอกเหนือไปจากนั้น สำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงนักหรือรับความผันผวนได้ต่ำหรือ อยู่ในช่วงวัยใกล้เกษียณ การเลือกลงทุนใน SSF และ RMF ที่ให้น้ำหนักการลงทุนไปที่ ตราสารหนี้ ก็สามารถช่วยลดความผันผวนและลดโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้อีกด้วยครับ
ท้ายที่สุดนี้ ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถนำมาพยากรณ์ผลตอบแทนในอนาคตได้ และก่อนการลงทุนใดๆ ควรศึกษาข้อมูลการลงทุนจากหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจเสียก่อนเป็นดีครับ