พลังงานลุย 'สมาร์ทกริด' ดันไทยฮับไฟฟ้าอาเซียน
สนพ. เผย 3 การไฟฟ้า เร่งขับเคลื่อน แผนสมาร์ทกริด ระยะสั้น 4 ปี(ปี60-64) ยกระดับคุณภาพระบบไฟฟ้าไทย สู่เป้าหมายฮับไฟฟ้าอาเซียน เล็งผลักดันเป็นธุรกิจใหม่เสริมรายได้
นายอนิรุทธิ์ ธนกรมนตรี โฆษกสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.ได้ติดตามความก้าวหน้าของแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.),การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในช่วง ระยะที่ 2 (ปี2560-2564) ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย ปี 2558 – 2579 โดยเป็นช่วงพัฒนาโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความเหมาะสมทางเทคนิคและความคุ้มค่าของการลงทุนในแต่ละเทคโนโลยี
โดย กฟภ. เริ่มดำเนินการโครงการนำร่องด้านการตอบสนองโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน อาทิ โครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่เมืองพัทยา ซึ่งมีการเปลี่ยนมิเตอร์เก่าให้เป็นสมาร์ทมิเตอร์ทั้งหมดเป็นตัวเลข 116,308 เครื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ และได้ร่วมกับ กฟผ. ทำโครงการนำร่องระบบไมโครกริด โดยสร้างระบบไฟฟ้าที่แยกอิสระไม่ต้องพึ่งสายส่งหลัก และมีระบบกักเก็บพลังงาน(ESS)ไว้ใช้ในพื้นที่ตัวเอง รวมถึง โครงการวิจัย EV Station ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน ซึ่งมี Application เพื่อใช้ในการบริหารจัดการการชาร์จ โดยมีสถานีทั้งหมด 11 แห่ง อาทิ หัวหิน ปากช่อง โคราช อยุธยา คาดว่าจะเปิดใช้งานประมาณเดือน เม.ย.นี้ 2563
โครงการวิจัย Power Pack คือ การศึกษาระบบกักเก็บพลังงานซึ่งจะติดตั้งในบ้าน หากในอนาคตผู้ผลิตมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น ซึ่งในงานวิจัยได้จัดทำต้นแบบ ESS ที่ขนาด 5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เพื่อเป็นทางเลือกนำไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ห่างไกล และในอนาคตอาจจะเป็นธุรกิจ หรือ Product ใหม่ของ กฟภ. ในการให้บริการกับผู้ใช้ไฟฟ้าในอนาคต
ด้าน กฟน.อยู่ระหว่างจัดทำโครงการนําร่องการตอบสนองด้านโหลดและกลไกราคาในพื้นที่กทม. และปริมณฑล(DR : LAMS) เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีส่วนร่วมต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่า คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2565 และโครงการนําร่องระบบไมโครกริดของ กฟน. คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2564
นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่องอื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ Smart Metro Grid Project เพื่อใช้งานเทคโนโลยีระบบสมาร์ทมิเตอร์ก่อนใช้ทั่วพื้นที่ กฟน. เป็นต้น
ส่วน กฟผ. ได้เตรียมการด้านบทบาทรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต โดยปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบส่งให้มีความทันสมัยมากขึ้น (Grid Moderization) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพยากรณ์พลังงานหมุนเวียน Big Data รวมถึงโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และจัดทำแผนพัฒนา Grid Connectivity เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบส่ง รองรับการส่งถ่ายไฟฟ้าในภูมิภาค มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าของอาเซียน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ (ปี2558 – 2559) ระยะสั้น (ปี2560 – 2564) ระยะปานกลาง (ปี2565 – 2574) และระยะยาว (ปี2575 – 2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ โดยคาดว่า โครงการนำร่องปี 2560-2564 จะช่วยลดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ และเกิดไมโครกริดได้อย่างน้อย 3 แห่ง
โดยตั้งเป้าสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนใน 3 กลุ่ม คือ Smart System จะช่วยลดความต้องการโรงไฟฟ้าสำรอง จำนวนการเกิดไฟฟ้าดับ และ Loss จากการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าได้ Smart Life จะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมีความทันสมัย และ Green Society จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้ามากกว่า 15%