‘ดีวานา’ จากสปา สู่เดลิเวอรีออนไลน์
Go Digital เป้าหมายใหญ่ "ดีวานา สปา" เปิดแพลตฟอร์มเดลิเวอรีออนไลน์เข้าถึงลูกค้าทุก Touch point ในทุกสินค้าและบริการ กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ Lazy Consumer ของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตามกระแสดิจิทัลส่งตรงถึงบ้าน 24 ชั่วโมง 7 วัน
1-2 ปีที่ผ่านมา ‘เดลิเวอรี เซอร์วิส’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น Foodpanda, Line Man, Grab ,Get เป็นต้น เพื่อให้บริการส่งสินค้า อาหาร พัสดุ ที่เข้ามาพลิกรูปแบบการตลาดใหม่ของหลายธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ‘ดีวานาสปา’ จะทรานส์ฟอร์ม ตัวเองให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
ธเนศ จิระเสวกดิลก ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอดีวานา สปา (Divana Spa) กล่าวว่า จากประสบการณ์ดำเนินธุรกิจเกือบ20ปีที่ผ่านมา พยายามที่จะบริหารความเสี่ยงธุรกิจ ด้วยการขยายธุรกิจและขยายฐานลูกค้าในแต่ละธุรกิจมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ธุรกิจจึงผ่านวิกฤติมาได้ ทั้งเหตุวินาศกรรม 9/11 วิกฤติการเรือง (เสื้อเหลืองVSแดง) ไข้หวัดนก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
“เราเรียนรู้ที่จะไม่เก็บทุกอย่างไว้ในตะกร้าใบเดียว เมื่อไรลูกค้าต่างชาติหายเราต้องมีลูกค้าคนไทยเข้ามาทดแทน จึงพยายามบาลานซ์การเติบโตทุกธุรกิจ ขณะเดียวกันต้องดูเทรนด์หรือความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก จากเดิม wellness เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ขยายกลุ่มลูกค้าไทยในเมืองมากขึ้น ล่าสุดจับกลุ่มมิลเลนเนียล เจเนเรชั่น Y และเจเนอเรชั่น Z ด้วยการทำคาเฟ่ตอบโจทย์คนยุคในโซเซียล ให้แบรนด์ดีวานาเป็นที่รู้จักมากขึ้นไม่เฉพาะแค่สปาเท่านั้น”
แน่นอนที่สุดว่า การขยายธุรกิจบริการอย่าง ‘สปา’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้งบการลงทุนและสร้างบุคลากรเข้ามารองรับ แต่จากประสบการณ์ของ ธเนศ และพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ หุ้นส่วน ที่มีจากประสบการณ์งานบริการสายการบิน จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องยาก
"งานบริการอยู่ในสายเลือด สามารถดีไซน์เซอร์วิสอินโนเวชั่นใช้ได้ตลอดเวลา เพราะเติบโตจากสายงานนี้” ธเนศ เผย
แต่นั่นยังไม่เพียงพอสำหรับการจะอยู่รอดในระยะยาว เขาระบุว่า ขณะนี้บริษัทกำลังเตรียมที่จะล้อนช์ธุรกิจใหม่ ที่มีลักษณะเป็น “Customized Experience” โดยการเปิดตัวแพลตฟอร์ม‘Urban Wellness’ โดยใช้ เดลิเวอรี ออนไลน์ เป็นตัวเชื่อมต่อในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ครอบคลุมทั้งสินค้าและบริการ โดยสามารถส่งต่อไปยังสปา คลินิกหรือการเดลิเวอรีบริการและผลิตภัณฑ์ไปถึงลูกค้าที่บ้านได้ 24 ชั่วโมง7วันเพื่อเติมเต็มความสุข และสุขภาพของลูกค้า
“แพลตฟอร์มนี้ จะเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงคนได้ในสเกลที่ใหญ่ทุกระดับ พลิกโฉมดีวานากลายเป็น ธุรกิจเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์ลูกค้าในอนาคต เฟสแรกจะเป็นเซอร์วิสและโปรดักท์ไปพร้อมกันเพื่อแก้ปัญหาลูกค้าในรูปแบบเดลิเวอรี เช่น ออฟฟิศซินโดรมด้วยการดีไซน์การรักษากลุ่มคนทำงาน มนุษย์เงินเดือน ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่เข้ามาใช้บริการ แต่จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต”
ธเนศ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของแนวคิดในการพัฒนาแพลตฟอร์มเกิดจากเห็นไลฟ์สไตล์ลูกค้าเปลี่ยนกลายเป็นยุคของ LAZY CONSUMER เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาส่งผลให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปจากเดิมจึงเป็นที่มาของการสร้างบิซิเนสโมเดลที่ตอบโจทย์ลูกค้าในอนาคต ขณะเดียวกันยังขยายโมเดลธุรกิจเดิมที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดอยู่ที่ธุรกิจสปาแต่จะเป็นการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่มาพัฒนาเป็นโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาให้กับคนเมืองมากขึ้นในเรื่องใกล้ตัว ผ่านแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าไปถึงกลุ่มลูกค้าและแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยเป้าหมายแรกเจาะกลุ่มคนเมือง กรุงเทพฯ และขยายไปประเทศต่างๆที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในอนาคต
“ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน เราต้องพร้อมไดนามิกตลอดเวลา สิ่งสำคัญต้องพัฒนาตัวเองให้มีทักษะในการอยู่รอดอย่าทำอะไรแบบเดิมๆ เพราะอนาคตถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี เพราะลูกค้าเปลี่ยนทุกวันจะอยู่เฉยๆไม่ได้อีกต่อไป"
ปัจจุบันธุรกิจหลักของดีวานา ยังคงเป็นสปา คิดเป็นสัดส่วน50% จากรายได้รวมปีละ 400 ล้านบาทลูกค้าหลักเป็นต่างชาติ 90% ส่วนที่เหลือกระจายไปในแต่ละธุรกิจ รองลงมาตัวผลิตภัณฑ์สปา แบรนด์ดีไอไอ ซึ่งปัจจุบันมีเอาท์เล็ทกระจายสินค้านับ 50 แห่งและเมดิคัลสปา ซึ่งลูกค้าหลักเป็นคนไทย 70%
“2 ปีที่ผ่านมายอดขายเติบโต 2-3 เท่าตัวแต่ปีที่ผ่านมาจากปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบเศรษฐกิจ คาดว่า ปีนี้คงไม่เติบโตมากเหมือนก่อนแต่ยังคงเติบโตเฉลี่ย20%”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผลักดันและขับเคลื่อนให้ธุรกิจของดีวานามาถึงวันนี้ได้ คือ ความรักและหลงใหล แบบ crazy in love ตรงกับคอนเซปต์ของแบรนด์ดีวานา จนทำให้ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ แม้จะเคยถูกปรามาสไว้ว่า พวกเขาจะไปไม่รอด
“เราเริ่มต้นจากแพสชั่น และมองว่าเป็นความท้าทายในการสร้างความแตกต่างเพราะ ถ้าทำอะไรเหมือนกับคนอื่นคงไม่สนุกและโอกาสที่จะประสบความสำเร็จน้อย จึงพยายามพัฒนานวัตกรรม ออกมาตลอดและเทคความเสี่ยงอยู่เสมอทำให้สร้าง ‘โอกาส’ได้มาก ซึ่งเหมือนกับการหลงรักใครสักคนโดยที่ลืมไปแล้วว่าเหตุผล คืออะไร ฉะนั้นเวลาที่ทำดีไซน์เซอร์วิส จะให้ความสำคัญกับฟังก์ชันนัลและอีโมชันนัล ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเกิดความประทับใจและบอกต่อ เป็นกลยุทธ์เซอร์วิสมาร์เก็ตติ้งอย่างหนึ่ง ”