'ภัทร' หั่น 'จีดีพี' อีกรอบโตเหลือ 1.4% พิษ 'โควิด-19' กระทบหนัก
บล.ภัทร หั่น “จีดีพี” อีกรอบ เหลือ 1.4% หลัง “โควิด-19” ส่อกระทบเศรษฐกิจแรงกว่าคาด พร้อมประเมินจีดีพีไตรมาสแรก อาจหดตัว 1%
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร ได้รับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.4% จากเดิม 2.2% ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับลดมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2563 ซึ่งครั้งนั้น ได้ปรับลดประมาณการลงจาก 2.8% เหลือ 2.2%
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า การปรับลดครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี หลังจากได้ทำการปรับมาแล้ว 1 ครั้งเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน โดยสาเหตุที่ต้องปรับลดอัตราการเติบโตลงอีกครั้งเนื่องจาก ผลกระทบของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” กินเวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ และส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมด้วย
"เดิมเราคิดว่าสถานการณ์คงจะคล้ายกับตอนเกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ที่กินเวลาไม่กี่เดือน แต่ดูจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วคงจะยาวนานกว่าที่คิด อย่างน้อยๆ ก็คงจะต่อเนื่องถึงเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งเรามองว่าในช่วง 3 เดือนนี้ นักท่องเที่ยวคงหายไปราว 50%และหลายๆ ประเทศก็เริ่มเตือนถึงการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยด้วย"
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การปรับประมาณการครั้งนี้ ใช้สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะหายไปราว 5 ล้านคน ทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ การท่องเที่ยวของไทย มีสัดส่วนต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ราว 12% ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีผลต่อการเติบโตประมาณ 1.4% ทำให้ ฝ่ายวิจัย บล.ภัทร ประเมินว่า จีดีพี ทั้งปีของปีนี้ อาจเติบโตได้เพียง 1.4% เท่านั้น
นอกจากนี้ เขายังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกคงหดตัวราว 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และน่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2562 ดังนั้นประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ไตรมาส 2 ของปีนี้ จะสามารถขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีได้หรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวประเมินว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 จบได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ โอกาสที่เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกคงมีน้อย
“เรายังไม่คิดว่าเศรษฐกิจจะเลวร้ายถึงขั้นถดถอย ยกเว้นแต่สถานการณ์จะกินเวลานานและลงลึกกว่าที่คาดเอาไว้ โดยจุดที่ต้องดู คือ เดือนเม.ย. หากสถานการณ์ยังไม่จบ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวได้เช่นกัน”