SCBS ชี้โควิด-19 ฉุดบาทอ่อนสุดรอบ9ด.-ศก. แย่
บล.ไทยพาณิชย์ ชี้เงินบาทอ่อนสุดรอบ9เดือนที่ระดับ
31.60 บาทต่อดอลลาร์ เหตุโควิด-19แรงกว่าคาด ฉุดเศรษฐกิจแย่ ถึงจุดวัดใจผู้กำหนดนโยบายเข้าดูแลความผันผวนคาดเห็นบาทอ่อนแตะระดับ32.80บาทต่อดอลลาร์ในปีนี้ แนะนำผู้นำเข้า-ส่งออกป้องกันความเสี่ยงเพิ่ม
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยตลาดการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผยว่า ในวานนี้เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 9 เดือน ที่ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าที่สุดในเอเชีย5.12% มากกว่าเงินหยวนที่อ่อนค่าเพียง 1.0% เทียบกับดอลลาร์ โดยมีค่าความผันผวนของเงินบาท (volatility 6เดือน) ขึ้นมาที่ 5.3% สูงที่สุดในรอบ 5เดือน หลังจากดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ยระยะยาวลงมาระดับต่ำที่สุดในประวัติกาล
สำหรับการอ่อนค่าครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์เงินบาทต่างกับช่วงต้นปีมาก ย้อนกับไปช่วงนั้นเงินบาทอ่อนลงจากการเข้าแทรกแซง แต่ครั้งนี้เกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจแย่ลงจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด- 19 ซึ่งไม่รู้ว่าภาคธุรกิจเสียหายไปแค่ไหนแล้ว และจะกลับมาเมื่อไหร่
ดังนั้นโดยรวมจึงไม่ได้มองว่าการอ่อนค่าครั้งนี้จะช่วยเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะการท่องเที่ยวและส่งออกได้รับผลกระทบมากอยู่แล้ว และในทางกลับกันดูจะเป็นสัญญาณว่าความเสี่ยงในประเทศสูงขึ้น เห็นได้จาก Credit Default Swap ซึ่งเป็นค่าประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศก็ปรับตัวขึ้นด้วย
" ถ้าไม่ดูแลจุดนี้ให้ดี จะกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่กำลังตัดสินใจว่าจะเข้ามาลงทุนในประเทศ รวมถึงผู้นำเข้า เช่น พลังงานหรือสื่อสาร ก็ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นทันที ซึ่งสวนทางกับความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย จึงต้องระวังว่าการลงทุนของเอกชนใหญ่ๆ อาจชะลอลงกว่าที่คิดไว้"
อย่างไรก็ตามยังมองว่า แนวโน้มเงินบาทหลังจากนี้ ยังมีโอกาสอ่อนค่าไปได้ไกลถึง 32.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรก ขณะที่ไตรมาสที่สอง
เศรษฐกิจจะต้องเจอกับความเสี่ยงภัยแล้ง ผลสืบเนื่องจากโควิด 19 และก็เป็นช่วงที่ตลาดการเงินโลกมักปรับฐาน ซึ่งทั้งหมดมีโอกาสดันให้เงินบาทอ่อนค่าไปอีกในระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์ในปีนี้
จึงเป็นจุดวัดใจของผู้กำหนดนโยบายว่าจะพลิกด้านมาช่วยดูแลความผันผวนหรือไม่ เพราะด้วยระดับทุนสำรองของเราถ้าตั้งใจเข้ามาดูแล ก็น่าจะสามารถสร้างเสถียรภาพในช่วง 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์ไว้ได้ แต่ถ้าปล่อยไปก็อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าเร็วได้เรื่อยๆ
ดังนั้นแนะนำว่า ผู้ส่งออกนำเข้าต้องระวังเรื่องค่าเงินเป็นพิเศษ และควรทำประกันความเสี่ยงเสมอ ขณะที่นักลงทุนควรมองหาการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ธนาคารกลาง ควรรีบสร้างความเชื่อมโยงของตลาดสกุลเงินท้องถิ่น และภาครัฐควรจริงจังกับการหานโยบายกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน