ทียูประกาศแผน 5 ปีโต 16% ยอดขายแตะ 5 พันล้านดอลลาร์
ทียู ประกาศ แผน5 ปีใหม่ ลั่น ปี 67 ต้องมียอดขายแตะ5,000 ล้านดอลลาร์เน้นกลยุทธ์ทำกำไร สร้างอาหารใหม่หนีคู่แข่งจับมือสตาร์ทอัพ ลงทุนนวัตกรรมโปรตีนสกัด พร้อมเจาะตลาดอาหารสัตว์
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู เปิดเผยว่า สภาวะเศรษฐกิจและการค้าของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีปัจจัยหลายด้านที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้แผน 5 ปี (2559-2563 )ที่ผ่านมาต้องปรับใหม่ จากตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2563 ที่ 8,000 ล้านดอลลาร์ นั้นต้องเปลี่ยนเป็นเป้าหมายการทำกำไรแทนโดยกำหนดขยายตัว 15-16% เป็นการไต่ระดับมาจากก่อนหน้าที่อัตราการเติบโตของกำไร อยู่ที่ 14%
ปีที่ผ่าน ทียูได้ปล่อยสินค้าด้านนวัตกรรมออกมาจำหน่าย คือน้ำมันทูน่า คอราเจน ผลิตภัณท์อาหารสำเร็จรูป เน้นตลาดเอเชียมากขึ้น จึงมีรายได้ปี 2562 อยู่ที่ 4,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่รวมการเข้าซื้อหุ้นของเรดล็อปเตอร์ ของแคนาดา และ อะแวนติโฟรเซ่น ฟูดส์ อินเดียที่มีมูลค่ามากกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์ หรือโดยรวมแล้วรายได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิม ที่ตั้งไว้ 8,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ตามแผน 5 ปีใหม่ (2563-2567 ) ทียู ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือมีอัตราการเติบโตปีละ 3-5 % ไม่รวมการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นรายได้เนื่องจากทียูไม่มีต้นทุนการสำรองค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายในสหรัฐแล้ว อัตราหนี้ทุนของทียูลดลง เหลือ 1:0.1 เท่านั้น และในธุรกิจหลัก คือทูน่า ปลาซาร์ดีน แมคคอเรล กุ้ง ต้องเข้มแข็งขึ้น มีความปลอดภัย และสร้างอาหารชนิดใหม่ๆที่ได้จากศูนย์นวัตกรรม เพื่อให้ต่างจากคู่แข่ง ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับใน 5 ปีจะใช้งบลงทุน 2.5-2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการลงทุนธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าโปรตีนสกัดจากพืช หรืออื่นๆ โดยมองว่าที่ผ่านมาธุรกิจด้านนี้ของทียูมีฐานการเติบโตน้อย แต่แนวโน้มความต้องการของตลาดมีอยู่มาก จึงต้องเริ่มการผลิตเพื่อรองรับ โดยอาหารสัตว์เลี้ยงได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานไปแล้วที่อินโดนีเซียและศรีลังกา ส่วนโปรตีนสกัด ได้สกัดจากขนุนส่งขายที่อียู และสหรัฐแล้ว
โดยในปี 2563 นี้กำหนดใช้งบลงทุน 5,000 ล้านบาท เบื้องต้นได้ตั้งโครงการเอฟ-สเปซ เพื่อเร่งการเติบโตของกลุ่มสตาร์ทอัพนวัตกรรมด้านอาหาร โดยปลายปีที่ผ่านมาได้จัดงานพบปะนักลงทุนให้กับ 23 สตาร์ทอัพ และทียูได้ร่วมกับสตาร์ทอัพของอิสราเอล ในการก่อตั้งโรงงานในประเทศไทย งบประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ โดยอยากเห็นการลงทุนในลักษณะนี้มากขึ้น ทั้งด้านฟู้ดเทค การสกัดโปรตีน ทั้งจากพืช แมลง การนำโปรตีนมาทำอาหารและอื่นๆที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
"การเข้าซื้อกิจการ ทียูยังมองหาโอกาสที่เหมาะสม แต่จะไม่กำหนดหรือโฟกัสให้เป็นเป้าหมายหลัก หากพบหรือมีข้อเสนอดีๆ ก็จะเข้าซื้อได้เลย เพราะสถานะทางการเงินของเราดีอยู่แล้ว ธุรกิจที่สนใจยังจะอยู่ในหมวดของอาหารที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัท"
ด้านสัดส่วนรายได้ใน 5 ปีข้างหน้าทียูจะปรับเปลี่ยน รายได้จากตลาดสหรัฐ 40% จากปี 2562 อยู่ที่ 41% ในยุโรป 30% เพิ่มขึ้นปัจจุบัน 28% และเอเชียและอื่นๆประมาณ 30% โดยในจำนวนนี้ตลาดไทยเติบโตมาเพิ่มขึ้นเป็น 12% มีสัดส่วนรายได้เพียง 8% ซึ่งตลาดสหรัฐ ยังมองว่ามีโครงสร้างเศรษฐกิจแข็งแกร่งโดยเฉพาะปีนี้มีการเลือกตั้งอัตราการขยายตัวจะมากขึ้น ส่วนอียู มีปัญหาเรื่องค่าเงิน ทำให้ที่ผ่านมาสัดส่วนการตลาดลดลง หลังจากนี้ไปคาดว่าจะเริ่มดีขึ้น
สำหรับ ความคืบหน้าการนำบริษัทลูกอย่าง ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ (TFM) ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ในขณะนี้บริษัทมีความพร้อม แต่ต้องรอประเมินสถานการณ์ในตลาดหุ้นอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 นี้ปีนี้