‘เอฟเอ’ แนะดู '5 ปัจจัย' เทียบไอพีโอ ‘แพง-ไม่แพง’
จากข้อมูลสถิติของหุ้นไอพีโอที่ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ เคยนำเสนอไปเมื่อ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึง ‘ผลลัพธ์’ จากการลงทุนในหุ้นไอพีโอว่ามีแนวโน้มจะเป็น 'ลบ' มากกว่าเป็น 'บวก' ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
โดยสรุปคือ สัดส่วนของหุ้นไอพีโอที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกหลังจากเข้ามา ‘เทรด’ แล้ว 'มีปริมาณน้อย' กว่าหุ้นไอพีโอที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบ
จากการเก็บสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จนถึง ณ สิ้นปี 2562 มีหุ้นไอพีโอเพียงกว่า 20% (ไม่รวมกองทุนฯ) จาก 84 หุ้น ที่สร้างกำไรให้กับนักลงทุน
ประเด็นคำถามหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันคือ ราคาของหุ้นไอพีโอเหล่านี้ แพงเกินไปหรือไม่?
อนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน สายงานวาณิชธนกิจและตลาดทุน บล.ภัทร เปิดเผยว่า ประเด็นของหุ้นไอพีโอ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การกำหนดราคาไอพีโอ และการจัดสรรหุ้นไอพีโอ
สำหรับประเด็นของการกำหนดราคาไอพีโอนั้น โดยทั่วไปก็สามารถทำได้หลากหลายวิธี อย่าง DCF ประกอบกับการกำหนดราคาเทียบกับอุตสาหกรรม ซึ่งก็มักจะพูดกันในเชิงของการเปรียบเทียบค่า P/E
“การดูค่า P/E เป็นสิ่งที่ควรระวัง เพราะการดู P/E เราดูอนาคตซึ่งไม่ไกลมาก เช่น 1-2 ปี ทำให้ต้องมีการประมาณการกำไรไปข้างหน้า และการดู P/E เป็นการดูในเชิงเปรียบเทียบเสมอ และการเทียบก็ควรต้องเทียบกับตัวที่ใกล้เคียงกันจริง ๆ ไม่ใช่แค่อยู่อุตสาหกรรมเดียวกัน ก็มาดูเทียบทั้ง ๆ ที่ลักษณะธุรกิจมีความต่างกันมาก จะเอาแอปเปิ้ลมาเทียบกับส้มก็คงเทียบไม่ได้ การที่หุ้นตัวหนึ่งมี P/E สูงกว่าอีกตัว ไม่ได้หมายความว่าหุ้นตัวนั้นแพงเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น หุ้นไอพีโอตัวหนึ่งมีค่า 1-year forward P/E ที่ 30-40 เท่า แต่นักวิเคราะห์คาดว่าบริษัทยังมีการเติบโต ของกำไรสุทธิ (Growth) มากๆ เช่น กำไรโตเฉลี่ย 20-25% ในอีก 3 ปี ข้างหน้า เทียบกับหุ้นไอพีโออีกตัวหนึ่งที่มีค่า P/E 15 เท่า แต่กำไรไม่โตแล้ว หรือการเติบโตติดลบไปแล้ว ลองคิดดูว่าหุ้นตัวไหนแพงกว่ากัน”
ขณะเดียวกัน การพิจารณาความถูกหรือแพง ก็ควรเปรียบเทียบในเชิงของ ‘ความเป็นผู้นำ’ ในอุตสาหกรรมที่หุ้นนั้นๆ ทำธุรกิจอยู่ด้วย
ส่วนที่สอง คือ การกระจายหุ้นให้กับนักลงทุน ซึ่งไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวทั้งหมดอีกเช่นกัน ว่าบริษัทควรจะกระจายหุ้นให้ใครบ้าง ในสัดส่วนเท่าใด
ทั้งนี้ หากกระจายหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยน้อยเกินไปก็อาจจะไม่ดี เพราะราคาหุ้นอาจจะนิ่งเกินไป (หลังจากเข้าเทรดแล้ว) หรือการกระจายให้นักลงทุนสถาบัน จะกระจายให้กับนักลงทุนไทยทั้งหมดเลยก็ไม่ดี เพราะเงินลงทุนก็จำกัด ขณะเดียวกันคุณภาพของนักลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ
โดยสรุปแล้ว ราคาที่เหมาะสมของหุ้นไอพีโอ ควรจะประกอบไปด้วย '5 ส่วนหลัก' คือ 1.สะท้อนพื้นฐานของบริษัท 2.สะท้อนการเติบโตและความสามารถในการทำกำไร 3.นักลงทุนยินดีที่จะจ่าย 4.เจ้าของเดิมก็ยินดีที่จะขาย และ 5.ตลาดรองก็ควรจะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน
“คนพูดกันเยอะเรื่อง IPO discount ว่าหุ้นอื่นซื้อขายอยู่เท่าไหร่ ก็ให้ส่วนลดกี่เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ไป ได้ราคา IPO ออกมา แบบนี้เรียกว่า IPO discount จริง ๆ คำว่า discount ที่เราพูดถึงมันคือการ discount จาก Fair Value ของบริษัท (ราคาเหมาะสม) จากนั้นค่อยดูว่าการจะมี discount ดูในเรื่องอะไรบ้าง เช่น เรื่องการเปิดเผยข้อมูลว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ทีมผู้บริหารสร้างความเชื่อมั่นได้แค่ไหน ผู้สนับสนุน (sponsor) เป็นใคร มีมาตรการดูแลคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อยอย่างไร เป็นต้น ปัจจัยเบื้องต้นเหล่านี้ รวมถึงสภาวการณ์เศรษฐกิจ สภาวะการณ์ตลาดในช่วงที่จะออกเสนอขายต่างหาก ที่จะใช้พิจารณาว่า discount ควรจะเป็นเท่าไหร่ มันไม่มีการกำหนดที่ชัดเจน แล้วแต่กรณีแล้วแต่สถานการณ์ แต่โดยทั่วไป discount ควรอยู่ที่ประมาณ 10-15% จาก fair value"
สำหรับตลาดไอพีโอในอีก 3 ปีข้างหน้า อนุวัฒน์ มองว่า ยังน่าสนใจ ในส่วนของ บล.ภัทร ยังคงมีดีลขนาดใหญ่มากกว่า 10 ดีล รวมทั้งดีลพิเศษอย่างการนำบริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในไทย หรือแม้แต่การนำบริษัทไทยออกไปจดทะเบียนที่ต่างประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้