10 หุ้นบิ๊กแคปปันผลสูง หลบภัย (ชั่วคราว) จากไวรัส
เพียงแค่ 3 วันทำการหุ้นไทยร่วงหนักมากกว่าตลอดทั้งปี 2562 ด้วยดัชนีลดลงมากถึง 128 จุด หรือเปลี่ยนแปลงลดลง 8.6 % จนทำให้เป็นจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นไปตามความรุนแรงของโรคระบาด COVID-19
การปรับตัวลดลงที่หนักขนาดนี้พอร์ตการลงทุนถ้าไม่ขาดทุนต้องปิดพอร์ตลดการลงทุนลงชั่วคราวและกำเงินสดไว้รอจัวหวะดีๆ แทน ส่วนใครที่ยังอยากหาโอกาสลงทุนช่วงนี้นอกจากจะต้องเลือกแล้วต้องเป็นกลุ่มที่ปลอดภัยสูงสุด
นอกจากหุ้นในกลุ่มกองทรัสต์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีหุ้นปันผลที่น่าสนใจในช่วงนี้ไม่แพ้กัน เพราะยังอยู่ในฤดูการรายงานผลการดำเนินงานปี 2562 พร้อมกับการจ่ายเงินปันผลในรอบครึ่งปีหลัง
ช่วงนี้ตลาดหุ้นยังร่วงไม่หยุดทำให้ราคาหุ้นรายตัวปรับลดลงหนักทั่วหน้า ส่งผลทำให้อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yeild) ปรับตัวสูงขึ้นไปโดยปริยาย รวมทั้งหุ้นในเคยยืนหนึ่งแถวหน้าในกลุ่มหุ้นปันผลสูงในรอบนี้คงต้องเห็นตำแหน่งเปลี่ยนแปลง
หลังจากที่เจอผลกระทบหนักทั้งภาวะเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน และเทคโนโลยีดีสรัปชั่น อย่างกลุ่มธนาคาร จนกดดันทำให้อัตราราคาหุ้นต่อกำไร หรือ P/E ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้นายแบงก์ใจดีควักเงินจากำไรแจกรูปเงินปันผล กันกระหน่ำ บางรายยังเข้ามาซื้อหุ้นคืนอย่างที่ไม่เคยทำมาอีก ส่งผลทำให้ในงวดนี้กลุ่มแบงก์พาเหรดเข้าป้ายอันดับหุ้นจ่ายปันผลสูงสุดจำนวนมาก
จากข้อมูลของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.พ. พบว่า 10 อันดับหุ้นที่จ่ายปันผลสูงสุดในกลุ่มบิ๊กแคป หรือในกลุ่ม เซ็ท 100 พบว่าหุ้นธนาคารติดอันดับถึง 4 ตัว
อันดับ 1 บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเซียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ซึ่งประกาศจ่ายเงินปันผลตามคาด สูงถึง 7.75 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราปันผล 8.41 % กำหนดขึ้นเครื่องหมายปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น (XD) วันที่ 27 เม.ย. และกำหนดจ่าย 15 พ.ค.
ที่ผ่านมาอัตราการจ่ายปันผลในปี 2561 อยู่ที่ 7 % และเทียบกับกลุ่มแบงก์ที่มีการจ่ายปันผลที่ระดับ 4 % จึงทำให้โดดเด่นในกลุ่มและยังคาดการณ์ว่าในปี 2563 TISCO ยังมีกำลังปันผลระดับนี้ต่อด้วยเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและยังไม่มีแผนใช้เงินกองทุนในการขยายสินทรัพย์ในอนาคต
ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่รอบนี้ทำเซอร์ไพส์นักลงทุนประกาศปันผลสูงกว่าปกติ จนดันอัตราเงินปันผลมาอยู่ที่ 4.10 % และ 3.35 % ตามลำดับ และขึ้นมาติด 1 ใน 10 อันดับแรกได้
ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปีนี้แนวโน้มผลดำเนินงานมีโอกาสลดลงมากที่สุด ทำให้หลายบริษัทราคาหุ้นร่วงหนักและเมื่อเทียบกับอัตราปันผลที่ออกมาจึงสูงขึ้นตามไปด้วย มี 2 บริษัท คือ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ที่จ่ายระหว่างกาลแล้ว 0.60 บาท ล่าสุดประกาศจ่าย 0.95 บาท รวมทั้งปีอัตราปันผลสูงมากถึง 10%
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP ที่เจอราคาหุ้นลดลงหนัก P/E ต่ำถึง 6 เท่า จึงพลักดันอัตราการจ่ายปันผลรองลงมาอยู่ที่ 6.15 % และบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI แม้ไม่ติด1 ใน 10 อันดับแต่รอบนี้ทั้งจ่ายปันผลให้อัตรา 3.30 %ยังประกาศซื้อหุ้นคืนช่วงนี้ด้วยเพื่อหยุงหุ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อมีหุ้นที่ประกาศปันผลแล้วมีหุ้นที่งวดนี้ของดจ่ายปันผล และน่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าสถานการณ์ธุรกิจยังเผชิญปัจจัยลบจนต้องสงวนสภาพคล่องเอาไว้ รายที่ประกาศแล้ว เช่น บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV หลังพลิกขาดทุนปี 2562 ถึง 473 ล้านบาท ซึ่งในปี 2563 ยังไม่เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวเพราะภาคการท่องเที่ยวที่ทรุดตามสถานการณ์ โควิค-19
หุ้นปันผลในรอบปี 2562 จะเรียกได้ว่าเป็นหุ้นปลอดภัยแค่ชั่วคราวเพราะมีความเสี่ยงสูงจากราคาหุ้นอาจจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป ยิ่งในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว หรือมีฐานลูกค้าที่อิงกับธุรกิจดังกล่าวได้รับความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย