ส่องยอดขายไทยเบฟไตรมาส1 โกย 75,680 ล้านบาท เครื่องดื่มทำกำไรโตยกแผง!!

ส่องยอดขายไทยเบฟไตรมาส1 โกย 75,680 ล้านบาท เครื่องดื่มทำกำไรโตยกแผง!!

ไทยเบฟเวอเรจ ธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร 1 ใน 5 เสาหลักของกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (ทีซีซี กรุ๊ป) ยังคงโตอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าเศรษฐกิจ กำลังซื้อจะซบเซา ส่องผลประกอบการไตรมาส 1 2563 ยอดขาย-กำไร ยังอู้ฟู่!!

เมื่อภารกิจสำคัญของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) คือการมุ่งย้ำภาพเป็น “ยักษ์ใหญ่” เครื่องดื่มของเอเชีย(Total beverage) การเดินเกมรุกมีให้เห็นต่อเนื่อง รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ จะเติบโตในภูมิภาค เพื่อเทียบชั้นค่ายเครื่องดื่ม “บิ๊กเนม” ของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น เหมาไถ(Kweichow Moutai) Wuliangyia , Yilli group ของแดน “มังกร” หรือกระทั่ง อาซาฮี กรุ๊ป คิริน จากแดนอาทิตย์อุทัย 

ที่ผ่านมาไทยเบฟ ทุ่มเงิน “แสนล้านบาท” เข้าซื้อกิจการธุรกิจเบียร์ ไซ่ง่อน เบียร์-แอลกอฮอล์-เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือซาเบโก้ จนทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดเบียร์เป็น “เบอร์ 1” เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานเบียร์ที่เมียนมา เพื่อปูพรมทำตลาดอีกครั้ง หลังซื้อเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น) ที่มีหุ้นในเมียนมาเบียร์ แต่กลับต้องขายหุ้นทิ้ง เพราะเหตุผลบางประการ ล่าสุด ยังเห็นการเทเงินซื้อหุ้นในกิจการต่างๆ เพิ่ม เช่น ซื้อหุ้นเพิ่ม 35% ในอินเตอร์ เบฟเวอเรจ เทรดดิ้ง คอมพานี เป็นต้น 

แม้ไทยเบฟฯจะบุกหนักธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร แต่การขยายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีให้เห็นควบคู่กันไป เช่น การออกสุราแช่ “พญานาค” เสริมพอร์ต โฟโออิ คูลอฟ วอดก้า ปรับโฉม “เบียร์ช้าง 25 ปี โคลด์ บริว ลาเกอร์” ให้มีความพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น เพราะกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ สร้างความมั่งคั่งให้ “เจ้าสัวเจริญ และตระกูลสิริวัฒนภักดี”  

158277964354

เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

ผลลัพธ์ของการลุยขยายธุรกิจอย่างหนัก ทำการตลาดอย่างเข้มข้น ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 หรือ ตุลาคม 62-มกราคม 63(ปีงบประมาณ ต.ค.62-ก.ย.63) ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ยังมีการเติบโตไม่หยุด! แม้ภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อจะซบเซาแค่ไหนก็ตาม 

ไทยเบฟฯ มี "เจ้าสัวน้อย ฐาปน สิริวัฒนภักดี" เป็นแม่ทัพคนสำคัญ และขับเคลื่อนธุรกิจจนสามารถฝ่าวงล้อมปัจจัยลบได้ ผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยกลุ่มสินค้า “สุรา” โกยยอดขายเชิงปริมาณโต 7% เบียร์(ไม่รวมซาเบโก้ :ไซ่ง่อน เบียร์-แอลกอฮอล์-เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น ) โต 13.5% และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(NAB: Non-Alcohol Beverage )เติบโต 1.9%

ทั้งนี้ เครื่องดื่มทุกเซ็กเมนต์ เรียกว่าช่วยกันเบ่งทำกำไรให้โตถึง 23.2% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์กลับมาทำกำไรได้แล้ว 125 ล้านบาท จากที่ผ่านมาค่อนข้างอยู่ใน “แดนลบ” เพราะเทงบประมาณทำการตลาดอย่างบ้าคลั่ง ก่อนกลับสู่เกม “สร้างคุณค่า” และ “คุ้มทุน” ที่ลงไป 

158276627098

มาดูไฮไลท์ยอดขายของไทยเบฟในไตรมาส 1 มีมูลค่าทั้งสิ้น 75,680 ล้านบาท เติบโต 4.2% กำไรสุทธิ 9,213 ล้านบาท เติบโต 23.3% โดยยอดขายหลักมาจากสุราสัดส่วน 45.5% เบียร์ 43.9%  เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 5.6% 

ส่วนความสามารถในการ กำไร ยังคงมาจากสุรา สัดสัดส่วน 87% เบียร์ 9.7% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.5% และอาหาร 1.8%

158276648498

ความสามารถในการทำกำไรของแต่ละสินค้า สุรานำโด่ง

ด้านยอดขายเชิงปริมาณ สุราขาวอยู่ที่ 189 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เบียร์ 731 ล้านลิตร ลดลงเล็กน้อย 0.1% น้ำดื่มและโซดา “ช้าง” 18 ล้านลิตร ลดลง 43% โซดาอื่นๆ(ร็อค เมาเท็น) 13 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 15% และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 399 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 1.9% โดยกลุ่มนี้ ยังแบ่งเป็นชาเขียวพร้อมดื่ม และเครื่องดื่มสมุนไพรจับใจ 67 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 3.5% น้ำดื้ม 262 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 2.3% เครื่องดื่มอัดลม(เอส ฮันเดรดพลัส และซาสี่) 69 ล้านลิตร ลดลงเล็กน้อย 0.8% 

แยกยอดขายตามประเภทสินค้า กลุ่มสุรา สร้างยอดขาย 34,420 ล้านบาท เติบโต 8.8% ซึ่งมาจากปริมาณการขายเพิ่มขึ้น และมีกำไรสุทธิ 7,113 เติบโต 23.6% เบียร์ 33,222 ล้านบาท เติบโต 0.2% เนื่องจากยอดขายเบียร์ในประเทศเพิ่มขึ้น กำไรสุทธิ 796 ล้านบาท เติบโต 158.4% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 4,214 ล้านบาท เติบโต 4.4% กำไรสุทธิ 125 ล้านบาท เติบโต 150% และอาหารมียอดขาย 3,874 ล้านบาท เติบโต 1.5% กลุ่มอาหารโออิชิ ยังเป็นหัวหอกทำยอดขาย มีกำไรสุทธิ 145 ล้านบาท ลดลง 17.1% เพราะต้นทุนการโฆษณาและจัดโปรโมชั่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนหักภาษีลดลง และกระทบกำไรสุทธิโดยรวม 

158276660034

ส่วนธุรกิจต่างประเทศไตรมาส 1 ปี 2563 มียอดขายรวม 18,600 ล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อน เนื่องจากยอดขายเบียร์และสุราหดตัวลง เมื่อแยกกลุ่มสุรา ยอดขายลดลง 11% ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่มาจาก แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป(GRG) หดตัวลง โดย GRG เป็นผู้ผลิตสุรารายใหญ่ของเมียนมา รวมถึงการขายสกอ็ตวิสกี้ลดลงทั้งแบบลัง และปริมาณมาก(Bulk) ส่วนเบียร์ยอดขายลดลง 12% โดยซาเบโก้ เบียร์เบอร์ 1 ของเวียดนาม ยอดขายลดลง และผลการดำเนินงานธุรกิจเบียร์ในบางประเทศของอาเซียนชะลอตัว