‘โควิด-19’ พ่นพิษผู้ค้ารายย่อยอ่วมวอนศูนย์การค้า ‘ลดค่าเช่า’
“โควิด-19 เอฟเฟกต์” ส่งผลลูกค้าที่เคยหนาแน่นในห้างร้านค้าปลีก ศูนย์การค้า เวลานี้ “บางตา”ทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ วูบหายจากตลาด กระทบผู้ประกอบการทั่วทุกแขนง โดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อย! พลังทุนน้อย สายป่านสั้น เผชิญวิกฤติยอดหาย-กำไรหด!
แรงกดดันของปัจจัยลบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ 2019 ครั้งนี้ ภายใต้ภาวะถดถอยของกำลังซื้อและเศรษฐกิจ ทำให้ขณะนี้เกิดปรากฎการณ์บรรดา “ผู้ค้า” ในศูนย์การค้าต่างๆ ต่างลุกขึ้นเจรจาต่อรองเจ้าของพื้นที่ขอ “ลดค่าเช่า” ต้นทุนก้อนใหญ่!! เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจในห้วงเวลายากลำบากนี้
หนึ่งในตัวแทนผู้ค้า "เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อน เจริญกรุง" ในนามกลุ่ม “เซฟเอเชียทีค” กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไวรัสโควิค-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการลดลงเกือบ 80% ซ้ำเติมจากช่วงก่อนหน้านี้ธุรกิจซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวทางบริหารจัดการที่เปลี่ยนไปทำให้การทำตลาด “ยากขึ้น” มีการแข่งขันกันเองมากขึ้น
ดังนั้น กลุ่มเซฟเอเชียทีค ที่มีสมาชิกราว 200 รายจากผู้ค้าทั้งหมดในเอเชียทีคคาดว่าจะมีประมาณ 1,400 ราย ได้ขอหารือกับผู้บริหารเอเชียทีค ซึ่งที่ผ่านมาเจรจาแล้ว 2 รอบด้วยกัน แต่ผลที่ได้รับไม่เป็นที่น่าพอใจ จะมีการนัดเจรจาอีกครั้งวันนี้ (28 ก.พ.)
ทั้งนี้ ได้นำเสนอ 4 แนวทางช่วยเหลือผู้ค้า ประกอบด้วย
1.ขอให้คงค่าเช่าในราคาเดิมไปก่อน ซึ่งทุกๆ ปีจะมีการปรับเช่าตั้งแต่ระดับ 5-20% บางทำเลบางร้านสูงถึง 60%
2.จากแนวโน้มสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 คาดว่าจะยืดเยื้อ จึงขอให้ปรับลดค่าเช่าลง 50% เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นอาจจะพิจารณาลดค่าเช่าลง 30% เพื่อให้ร้านค้าสามารถดำเนินธุรกิจอยู่รอดได้
3.ขอให้ผู้ประกอบการร้านค้าที่ค้างชำระค่าเช่า หรือผ่อนชำระไม่ตรงเวลา หรือผู้ที่ไม่ต่อสัญญาในปีหน้า ได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้ด้วย
4.ขอให้พิจารณาเปลี่ยนทีมผู้บริิหารชุดปัจจุบันซึ่งมองว่าอาจมีการบริหารผิดพลาด มีส่วนทำให้ผู้ค้าประสบปัญหาในการทำตลาดมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการสินค้าที่เหมือนกัน ทำให้มีการแข่งขันกันเองในพื้นที่มากขึ้น ขณะที่เวลาการขายจำกัดในช่วงสั้น ตั้งแต่ 17.00-23.00 น.
“ร้านค้าในเอเชียทีค ส่วนใหญ่ย้ายจากสวนลุมไนท์บาซาร์ มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80% ซึ่งเวลานี้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% แน่นอนว่ากระทบต่อยอดขายที่ไม่เพียงพอกับค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง เราผ่านเหตุการณ์ ต่างๆ เผชิญความยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจ จำนวนลูกค้าที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพอสู้ไหว ซึ่งครั้งนี้ถือว่าวิกฤติสำหรับเราอย่างมากจึงขอมาตรการช่วยเหลือจากเจ้าของพื้นที่เป็นครั้งแรกเพื่อให้ผ่านช่วงนี้ไปได้ก่อน”
ทางด้าน ศูนย์การค้า เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ มีการเรียกร้องของผู้ประกอบการร้านค้าให้ บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้า เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ พิจารณามาตรการช่วยเหลือร้านค้าผู้เช่าในสถานการณ์เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจและการท่องเที่ยวทั่วโลกนี้ด้วยเช่นกัน
รายงานข่าวจาก "เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์" ระบุว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น บริษัท ได้มีการเจรจาพูดคุยกับร้านค้าผู้เช่าอยู่เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยได้วางแผนมาตรการช่วยเหลือด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างเร่งด่วน! เพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ในระยะยาว “กิจกรรมส่งเสริมการขาย” จะมีการจัดขึ้นต่อเนื่องทั้งปี พร้อมเปิดพื้นที่โปรโมทสื่อโฆษณาของร้านค้าภายในศูนย์การค้าตลอดจนสื่อภายนอกอื่นๆ ให้เป็นพิเศษ และจัดทำโครงการส่งเสริมร้านค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง
"จำนวนลูกค้าภายในศูนย์การค้ามียอดที่ลดลงบ้างตามสถานการณ์ แต่ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มาตรการดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือร้านค้าได้ พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากร้านค้าเพิ่มเติม และจับมือกับร้านค้าผู้เช่าเพื่อหาแนวทางที่จะผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกันไปได้ด้วยดี"
ด้านกลุ่มเป้าหมายลูกค้าของ เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ เป็นคนไทย 60% ต่างชาติ 40% ในสัดส่วนกลุ่มต่างชาตินั้นมีความหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซีย อินเดีย และนักท่องเที่ยวในกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่ยังคงเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ สุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้หารือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะมีการ “ลดค่าเช่าพื้นที่” ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าภายในศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ สัดส่วนตามประเภทการเช่า ตั้งแต่ 10- 20% เป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 ส.ค.2563
ทางด้านยักษ์ใหญ่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ ภายใต้การบริหารของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ระบุว่า ศูนย์การค้า 8 แห่ง จาก 34 แห่ง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โคโรนา และเตรียมมาตรการเยียวยาร้านค้าในศูนย์การค้าทั้ง 8 แห่ง ด้วยการ “ลดค่าเช่า” ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาอัตราและระยะเวลา
ศูนย์การค้า 8 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการจำนวนมากคิดเป็นสัดส่วน 30-40% ของผู้เข้ามาใช้บริการทั้งหมด โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยงใช้บริการลดลง 10-20%