Bluesky ผู้ใช้ทะลุ 1 ล้านยูสเซอร์ใน 24 ชั่วโมง หลังกระแสต่อต้าน ‘มัสก์-ทรัมป์’

Bluesky ผู้ใช้ทะลุ 1 ล้านยูสเซอร์ใน 24 ชั่วโมง หลังกระแสต่อต้าน ‘มัสก์-ทรัมป์’

ปรากฏการณ์ย้ายแพลตฟอร์มของชาวโซเชียล จากเอ็กซ์ (X) สู่บลูสกาย (Bluesky) หลังไม่พอใจต่อการสนับสนุนทรัมป์ของอีลอน มัสก์ ส่งผลให้มียอดผู้ใช้ใหม่พุ่งถึง 1 ล้านคนใน 24 ชั่วโมง พร้อมเจาะลึกจุดเด่นของบลูสกายที่กำลังท้าชิงตลาดโซเชียลมีเดีย

“การเมืองบนโลกโซเชียล” ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมออนไลน์ บลูสกาย (Bluesky) แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียน้องใหม่ มียอดผู้สมัครใช้งานพุ่งสูงถึง 1 ล้านคนภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง และเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน (คิดเป็น 15%) นับตั้งแต่การประกาศชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้งานรวมทั้งสิ้น 16 ล้านคนทั่วโลก

บลูสกายเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีลักษณะคล้ายทวิตเตอร์ (Twitter) เดิม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น X ที่ผู้ใช้สามารถโพสต์ข้อความสั้น แชร์รูปภาพ วิดีโอ GIF และลิงก์ต่างๆ ได้ มีฟีเจอร์พื้นฐาน ทั้งการกดไลก์ รีโพสต์ ตอบกลับ และส่งข้อความส่วนตัว รวมถึงการบล็อคและรายงานผู้ใช้ที่ไม่เหมาะสม

จุดเด่นของบลูสกาย คือ การเป็นโซเชียลมีเดียแบบกระจายศูนย์ หมายความว่า ผู้ใช้สามารถเป็นเจ้าของและควบคุมข้อมูลของตนเองได้ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ bsky.app หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทั้งในระบบ iOS และ Android โดยผู้ใช้จะได้ชื่อผู้ใช้ที่ลงท้ายด้วย bsky.social เป็นค่าเริ่มต้น แต่สามารถใช้โดเมนของตนเองได้หากต้องการ

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบลูสกายมีสาเหตุสำคัญมาจากท่าทีของ “มัสก์” เจ้าของแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ที่แสดงการสนับสนุน “ทรัมป์” อย่างชัดเจน ส่งผลต่ออัลกอริทึมบนแพลตฟอร์ม ที่มักจะผลักดันเนื้อหาที่เอนเอียงไปทางสนับสนุนทรัมป์ให้ปรากฏบนหน้าฟีดของผู้ใช้งาน ท่าทีของมัสก์ทำให้มีผู้ใช้ย้ายแพลตฟอร์มครั้งใหญ่จากเอ็กซ์สู่บลูสกาย โดยเฉพาะหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ทรัมป์ได้รับชัยชนะ

ตัวเลขสะท้อนความไม่พอใจนี้ชัดเจน เมื่อบลูสกายมียอดผู้สมัครใหม่เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน (คิดเป็น 15%) นับตั้งแต่การประกาศผลเลือกตั้ง ขณะที่ X กลับเผชิญกับ “การยกเลิกบัญชีผู้ใช้” มากที่สุดนับตั้งแต่มัสก์เข้ามาเป็นเจ้าของ โดยมีผู้ใช้มากกว่า 115,000 รายในสหรัฐที่ยกเลิกบัญชีผ่านเว็บไซต์เพียงช่องทางเดียว

อย่างไรก็ตาม บลูสกายไม่ได้เป็นเพียงที่หลบภัยสำหรับผู้ใช้ฝ่ายซ้ายที่ผิดหวังกับการสนับสนุนทรัมป์ของมัสก์เท่านั้น แต่ยังได้กลายเป็นศูนย์รวมของชุมชนแฟนคลับศิลปินขนาดใหญ่

โดยเฉพาะกลุ่มแฟนคลับ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” หรือ “สวิฟตี้ (Swifties)” ที่มีสมาชิกกว่า 13,000 คนลงทะเบียนด้วยโดเมน swifties.social นอกจากนี้ยังมีชุมชนแฟนคลับศิลปินอื่นๆ อย่าง “บียอนเซ่ (Beyoncé)” ที่มีสมาชิกราว 900 คน และศิลปินเกาหลีใต้อย่าง BTS ที่มีสมาชิกประมาณ 4,500 คน

ระบบโดเมนพิเศษเหล่านี้เกิดขึ้นจากโครงการของ “แซมมวล นิวแมน” นักพัฒนาของบลูสกาย ที่เริ่มพัฒนาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023 ก่อนที่เขาจะเข้าร่วมงานกับบริษัท โดยเครื่องมือนี้อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถสร้างโดเมนย่อยจากโดเมนที่ตนเองเป็นเจ้าของได้ ตัวอย่างเช่น นิวแมนได้ซื้อโดเมน kawaii.social ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกราว 450 คน

“มันประสบความสำเร็จเกินคาด ตอนแรกผมคิดว่าคนอาจจะแค่อยากได้ชื่อแบบ bsky.london หรืออะไรประมาณนั้น แต่ปรากฏว่าระบบโดเมนนี้กลายเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกตัวตนที่ดีมาก โดยเฉพาะบัญชีแฟนคลับที่ชื่นชอบการแสดงตัวตนในลักษณะนี้” นิวแมนกล่าวผ่านข้อความส่วนตัวบนบลูสกาย

แม้จำนวนผู้ใช้งานของบลูสกายจะยังน้อยกว่า Threads ของเมตา (Meta) ที่มีผู้ใช้งานประจำเดือนกว่า 275 ล้านคน แต่ “เจย์ กราเบอร์” ซีอีโอของบลูสกาย เผยว่า แพลตฟอร์มของพวกเขามีอัตราการมีส่วนร่วมของผู้ใช้สูงกว่า X โดยมีผู้ใช้ที่โพสต์เนื้อหาอย่างสม่ำเสมอมากกว่า 30% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโซเชียลมีเดียทั่วไปที่มักอยู่ที่ 10% เท่านั้น 

ท้ายที่สุดแล้ว การผสมผสานระหว่างผู้ใช้ที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มการเมืองและแฟนคลับศิลปิน รวมถึงระบบโดเมนที่ยืดหยุ่น อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บลูสกายเติบโต ไม่ใช่เพียงแค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราวจากความไม่พอใจทางการเมืองเท่านั้น

อ้างอิง: Techcrunch และ NBC News