คาดหวัง 'เครื่องยนต์ลงทุน' ภาคเอกชนฝ่ามหาพายุ ประคองเศรษฐกิจ
มหาพายุลูกนี้ที่พุ่งตรงเข้ามาที่ภาคเศรษฐกิจอย่างจัง ความหวังหนึ่งของภาคเอกชนที่จะช่วยฟันฝ่าและประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นไปได้ ก็คงหนี้ไม่พ้นเครื่องยนต์ของการลงทุน แต่เพียงอาจต้องมีภาครัฐเข้ามาเป็นแรงหนุน และสร้างความเชื่อมั่น
นับตั้งแต่ต้นปี เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง “มหาพายุ” จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และภาวะภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้เครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก
ขณะที่ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีส่งผล กระทบต่อการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐ ส่วนภัยแล้งทำให้ผลผลิตภาคเกษตรลดลง ภาคอุตสาหกรรมจำต้องลดปริมาณการผลิตเพื่อประหยัดน้ำ กระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับแรงกดดันมากขึ้น จากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงท่ามกลางระดับราคาสินค้าเกษตรต่ำและหนี้ครัวเรือนสูง
สถานการณ์เช่นนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผสมผสานมาตรการการเงิน การคลังและการลงทุนที่ผ่านมา จึงมีการออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ และมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ม.ค. และ 4 ก.พ. ตามลำดับ
ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 5 ก.พ. ก็มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.00% ต่อปี ด้านที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เมื่อ 6 ก.พ. ก็ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ มาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี และมาตรการส่งเสริมการลงทุน เศรษฐกิจฐานราก รวมถึงแพ็กเกจสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อ 11 ก.พ.2563
ประเมินว่ามาตรการการเงินการคลังและการลงทุนของภาครัฐ เป็นการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ตรงจุด ทั้งนี้ มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ อาทิ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่าย เพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 2.5 เท่าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ถือเป็นอัตราสูงที่สุดเท่าที่ภาครัฐเคยลดหย่อน
ขณะที่มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรส่วนที่เหลืออีก 146 รายการ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการของผู้นำเข้า ก็เป็นการจูงใจภาคเอกชนให้เร่งลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าจากการนำเข้าที่มากขึ้น ส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงหรือซื้อเครื่องจักรใหม่ ก็เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่ง จึงเป็นการแก้ปัญหาด้วยการทำให้เศรษฐกิจในประเทศเข้มแข็ง และสร้างอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น
มาตรการการเงิน การคลัง และการลงทุนของภาครัฐ เป็นการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ตรงจุด
ด้านมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งแบ่งเป็น มาตรการด้านภาษี อาทิ การขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป 3 เดือน หรือถึง มิ.ย.2563 การสนับสนุนบริษัทจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศและปรับปรุงกิจการโรงแรม การลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องบิน
และมาตรการด้านการเงิน ได้แก่ การขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน ก็มีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีหลายกลุ่ม อาทิ ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการ ด้านธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร อุตสาหกรรมการบิน รวมถึงมัคคุเทศก์ พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
ส่วนเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นแกนหลักประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าอย่างมั่นคงนั้น การลดดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นการส่งสัญญาณให้กลไกหลักในตลาดการเงินดำเนินการผ่อนคลายให้ภาคธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น ประกอบกับทางบีโอไอก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มเติม ทั้งมาตรการภาษีสนับสนุน การพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 และการส่งเสริมการลงทุน ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหลังจากที่มีมาตรการสนับสนุนก่อนหน้า ทั้งการย้ายฐานการผลิต การลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จึงเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม
การลดดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นการส่งสัญญาณให้กลไกหลักในตลาดการเงินดำเนินการผ่อนคลายให้ภาคธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในระยะนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะการส่งออกยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ยังสะท้อนอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมในระดับต่ำ ส่งผลให้ภาคธุรกิจอาจยังลังเลเข้าลงทุน ซึ่งภาครัฐคงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ด้วยมาตรการที่เห็นผลและกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง คาดว่าภาครัฐจะทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง และน่าจะมีส่วนช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อมหาพายุได้ผ่านพ้น เพราะยังมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี โดยสิ้นสุดเดือน ธ.ค.2563