สิ่งที่ประเทศไทย ควรกังวลมากกว่าไวรัส
ปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบวงกว้าง จากเดิมหลายบริษัทคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจไม่เติบโตหรือเติบโตน้อยมาก กลายเป็นว่าอาจจะมีโอกาสติดลบค่อนข้างสูง แต่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับไทยไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ประเทศพัฒนาแล้วเจออยู่
ปัญหาไวรัสโควิด-19 ณ ตอนนี้รุนแรงกว่าที่เศรษฐกิจโลกเตรียมตัวไว้มาก ก่อนหน้านี้ก็มีคำเตือนอยู่แล้วที่เศรษฐกิจของสหรัฐมี Inverted Yield Curve หรือเส้น Yield Curve กลับหัวในพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐในช่วง ก.ย.ที่ผ่านมา ที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) แต่พอมีปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกสั่นคลอน กลายเป็น X-Factor หรือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ในปีนี้
ดอกเบี้ยไทยทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สยามพารากอนสูญเสียรายได้ไปแล้วกว่า 100 ล้านบาทใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่คนจีนไม่เข้าประเทศไทย AOT ปรับลดค่าเช่าร้านค้าในสนามบินลง 20% การบินไทยประกาศไม่สามารถยกเลิกตั๋วเครื่องบินของนักท่องเที่ยวจีน ทำได้แค่เลื่อนออกไปเท่านั้น ช่อง 3 ประกาศโครงการสมัครใจลาออก เชฟโรเลตปิดตัว และอื่นๆ อีกมากมายครับ ตอนนี้กลายเป็นว่าจากเดิมที่หลายๆ บริษัทคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจจะไม่เติบโตหรือเติบโตน้อยมากๆ กลายเป็นว่าอาจจะมีโอกาสติดลบค่อนข้างสูง สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ปัจจัยในเรื่องของโลกาภิวัตน์มีผลเสียอย่างไร
แต่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับประเทศเราไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคตภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาที่เรากำลังจะเจอใน 10 ข้างหน้า เป็นสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังเจอกันอยู่
เมื่อไม่นานมานี้ สหประชาชาติ ได้ทำสถิติของอัตราเด็กเกิดใหม่เทียบกับรายได้ต่อหัวในแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่แล้วประเทศที่ด้อยพัฒนาก็จะมีอัตราเด็กเกิดใหม่สูง แต่รายได้ต่ำ อย่างเช่น ไนเจอร์ในแอฟริกา ที่มีอัตราเด็กเกิดใหม่สูงที่สุดในโลกที่ประมาณ 7 คนต่อผู้หญิง 1 คน รองลงมาก็จะมี อิรัก และกาบอง ที่ 4 คนต่อผู้หญิง 1 คน จากนั้นก็ โอมาน และ อิสราเอลที่ 3 คน ซึ่งเมื่ออัตราตัวเลขของเด็กเกิดใหม่ต่ำลงเรื่อยๆ รายได้ของประชาชนในแต่ละประเทศก็สูงขึ้นตาม ประเทศส่วนใหญ่บนโลกจะอยู่ที่ประมาณ 1 ถึง 3 คน อย่างเช่น ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่พัฒนาทั้งสิ้น
แต่กลายเป็นว่าไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยและมีอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำกว่าจีนเสียอีก คือ ประมาณ 1.5 คนต่อผู้หญิง 1 คน แต่จีนพึ่งมีกฎหมายมีลูกได้เพิ่มเป็น 2 คน ทำให้ตัวเลขขยับขึ้นจาก 1 คนเป็นประมาณ 1.7 คน สหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2030 จะมีคนแก่ที่มีอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 1/4 ของไทย และคนที่เกษียณไปแล้วส่วนใหญ่จะเป็นคนจนด้วย ทำให้คนเหล่านี้ต้องมีคนคอยดูแล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือญาติของคนเหล่านี้ สิ่งนี้จะทำให้จำนวนแรงงานตกฮวบ ทำให้มีช่องว่างในการทำงานมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วสิ่งนี้ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่พวกเขาสามารถพัฒนาประเทศจนสามารถเป็นประเทศโลกที่หนึ่งได้
ถึงแม้ว่า 50 ปีที่ผ่านมา อัตราการมีบุตรทั่วโลกจะลดลงทุกประเทศ จากการที่ผู้หญิงมีการศึกษามากขึ้น การที่คนจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้นทำให้ตัวเลขนี้ตกลง แต่ข้อเสียก็มีเยอะส่วนใหญ่ก็เป็นในภาคเศรษฐกิจ เช่น คนจ่ายภาษีน้อยลง ลูกค้าในประเทศน้อยลง และไม่มีคนดูแลคนสูงอายุ แต่บ้านเรากลับมีอัตราลดลงอย่างฮวบฮาบ จากอัตราการมีบุตร 6.6 คนเหลือเพียง 2.2 คนต่อผู้หญิง 1 คนภายใน 2 ทศวรรษ และตอนนี้กลับเหลือเพียงแค่ 1.5 คนเอง ซึ่งในการที่จะรักษาประชากรให้คงที่ต้องอยู่ที่ประมาณ 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน
สิ่งหนึ่งที่เติมเข้ามาเพื่อที่จะทำให้รายได้ของประเทศยังเติบโตอยู่ คือการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติซึ่งอาจมากถึง 10% ของจำนวนประชากรคนทำงานในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ส่วนอื่นๆ ที่ทำให้เรื่องนี้ยิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ไปกว่าเดิมคือ การเติบโตของ GDP ของประเทศไทยที่ต่ำมากอยู่ที่ประมาณ 1.6% เองในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ต่ำกว่า 1% และ ดอกเบี้ยที่นับวันยิ่งต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเราดูเหมือนเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ไม่เหมือนเพื่อนบ้านเราที่ยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่อย่างอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ ทำให้ปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนกว่าเดิมอีกหลายเท่า
จริงๆ แล้ว เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้กันทุกฝ่ายครับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐต้องมองเห็นปัญหานี้และมีแผนนโยบายที่จะแก้ปัญหานี้ทั้งต้นเหตุและปลายเหตุ ส่วนเอกชนสามารถแก้ไขปัญหานี้โดยการจ้างชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้มากขึ้น แต่เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้หนุ่มสาวสมัยนี้ไม่กล้ามีลูกก็คือ การที่พ่อแม่กลัวว่าเราจะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกไม่ได้ครับ ทั้งเรื่องการศึกษา ที่นับวันแพงขึ้นเรื่อยๆ การแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และวิถีชีวิตในเมืองกรุงที่นับวันเครียดขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงปัญหาอย่างจำนวนวันที่สามารถลาไปคลอดน้อยมาก เวลาที่เด็กเรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีจำนวนมากมาย แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และสวัสดิการที่ทางรัฐสามารถจัดหาให้พ่อแม่ของเด็กเกิดใหม่ได้น้อยมาก ดังนั้นทำให้หลายฝ่ายคงต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน
ทำให้คิดถึงสโลแกนของกรุงเทพ ที่เขียนไว้ว่า “กรุงเทพ...ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” ครับ