“เจเอสพี”จัดพอร์ตธุรกิจดาวรุ่ง รุกตลาดกัญชา-สมุนไพรสัตว์

“เจเอสพี”จัดพอร์ตธุรกิจดาวรุ่ง  รุกตลาดกัญชา-สมุนไพรสัตว์

เจเอสพี ฟาร์มา ผู้ผลิตยาและสมุนไพร ผู้รับจ้างผลิตมากว่า10ปี ปรับพอร์ตสินค้าตามศักยภาพระยะสั้น กลาง ยาว หวังพลิกองค์กร ปักธงสินค้าสมุนไพร พร้อมปรับโครงสร้างจากธุรกิจครอบครัว สู่มืออาชีพ

ธุรกิจครอบครัวที่มีอายุเก่าแก่กว่า 70 ปี (ปี 2497) ร้านขายยาแผนปัจจุบัน “ง่วนเฮง สุภาพโอสถ” ในย่านหัวลำโพง กระทั่งมาตั้งเป็นโรงงานผลิตยาในปี 2519 ภายใต้ “เภสัชอุตสาหกรรมยา ค็อกซ์” ส่งต่อมายังเจเนอเรชั่นที่ 3 รุ่นหลาน พร้อมกับการขยายธุรกิจรับจ้างผลิตอาหารเสริม ภายใต้ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (JSP Pharma) จนล่าสุดกำลังรุกสู่ตลาด “สมุนไพร” มากขึ้น โดยมองว่าเป็นตลาดแห่งโอกาส โดยเฉพาะ “ผลิตภัณฑ์กัญชา”
สิทธิชัย แดงประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท JSP Pharma ทายาทรุ่นที่ 3 เรียนจบเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) เล่าว่า มองเห็นโอกาสตลาดยาสมุนไพรทั้งในคนและสัตว์ รวมถึงอาหารสริม มูลค่าตลาดมหาศาล ทำให้ปรับแผนธุรกิจ โดยใช้ฐานที่ตั้งโรงงานกว่า 3 แห่ง คือ ลำพูน โรงงานสมุนไพร และโรงงานยาแผนปัจจุบันที่พระราม 3 และลำลูกกา ที่ลงทุนไปแล้วกว่า 200 ล้านบาทใน 5 ปีที่ผ่านมา เป็น“กองทัพผลิต”ที่จะพาไปปักธงรอโอกาส
“โรงงานในปัจจุบันมี 3 แห่งคือพระราม3 ลำลูกกา และลำพูน กำลังการผลิตในปัจจุบัน มูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยยอดขายในปีที่ผ่านมา 300 ล้านบาท”
โดยในปี 2563 ได้ขยายไลน์การผลิตเพิ่มเติม ด้วยการลงทุนเพิ่ม 50 ล้านบาท ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นโอกาสใหม่ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จากกัญชา โดยมีพื้นที่ทดลองปลูก 2 ไร่ ร่วมมือกับคณะแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชาในเบื้องต้นเพื่อการวิจัย และจะขยายเป็นเชิงพาณิชย์ภายหลังจากได้รับใบอนุญาต 5 ปี โดยผลิตภัณฑ์แรก พัฒนาเป็นยานอนหลับ ในปีถัดไปจะพัฒนาเป็น “ยาแก้ปวด” รวมไปถึงหาพืชชนิดอื่นมาทดลอง เช่น กัญชง และกระท่อม
“กฎหมายระบุว่าจะต้องทดลองเพื่อนำมาใช้กับคน เบื้องต้นร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อวิจัยและพัฒนา ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตการวิจัยฯ ผลิตภัณฑ์เพื่อการพาณิชย์ได้ ใน 5 ปีข้างหน้า ภายใต้การดูแลของแพทย์”
นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาแล้ว บริษัทยังจะพัฒนาโปรตีนจากพืช ผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะเปิดตัว คือ ผำ หรือ ไข่น้ำ ที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกภายใต้แบรนด์ของบริษัท
ขณะเดียวกัน ยังจะพัฒนาสินค้าใหม่ ที่จะเป็นโอกาสในการขยายลูกค้าในตลาด OEM ใน 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ยาแผนปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มไลน์การผลิตแคปซูล 2.อาหารเสริม ทำจากเชื้อจุลินทรีย์ (โพรไบโอติก) เพื่อช่วยเสริมระบบทางเดินอาหาร เป็นการขยายฐานลูกค้า
3.ธุรกิจยา สมุนไพรสัตว์ หลังจากฎหมายเกี่ยวกับยาและอาหารเสริม เอื้อให้เกิดการพัฒนาให้กับสัตว์ ทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการนำสมุนไพรมาใช้กับสัตว์เลี้ยง และสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น เนื่องจากเทรนด์ผู้บริโภคมุ่งไปสู่สินค้าปลอดสาร (ออแกนิค) ทำให้ผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์ และผู้ที่ทำตลาดยาสมุนไพรสัตว์เริ่มเข้าไปทำตลาด เป็นโอกาสสำหรับเจเอสพี ในการเข้าไปเสริมกำลังการผลิตทำOEMป้อนตลาดเหล่านี้ ซึ่งมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท หากผู้ผลิตมีการปรับเปลี่ยนจากยาปฏิชีวนะในสัตว์ ที่ในประเทศยุโรปและในหลายประเทศเริ่มแบนในผลิตภัณฑ์ส่งออกที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ
เขายังบอกว่า การมีสินค้าใหม่ จะเป็นการเพิ่มโอกาสในตลาดใหม่ๆ รวมไปถึงการขยายไลน์การผลิตสินค้าเก่า ถือเป็นการจัดพอร์ตสินค้าที่มีหลากหลายโดยกำหนดกลยุทธให้ยาแผนปัจจุบัน เป็นการเติบโตระยะยาว มีการโตอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่กลุ่มตลาดสมุนไพร และอาหารสัตว์ถือเป็นการเติบโตระยะกลาง ที่จะสร้างโอกาสมหาศาลในช่วง 3-5 ปี ข้างหน้าเมื่อผลิตภัณฑ์กัญชา เปิดกว้างมากขึ้น และตลาดอุตสาหกรรมอาหารปรับเปลี่ยนการใช้ยาปฏิชีวนะ มาเป็นสมุนไพรทดแทน ขณะทีอาหารเสริมคือกลุ่มธุรกิจระยะสั้น ที่สร้างเงินทุนหมุนเวียนที่กำลังเติบจากการรับจ้างผลิต
“เราแบ่งพอร์ตเป็นกองทัพ การผลิตยาสมุนไพรในสัตว์และในคน คาดว่าจะเติบโตไปเรื่อยๆ โดยโปรเจคที่เปลี่ยนแปลงที่สุดคือกัญชา ที่ตลาดจะเติบโตมหาศาลเมื่อถูกกฎหมาย เพียงแต่ต้องรอเวลา และยังไม่มีความชัดเจนในกฎหมาย”
เขายังบอกด้วยว่า เพื่อเตรียมแผนสำรองในการเติบโตรองรับโอกาส เจเอสพีฯ จึงปรับโครงสร้างองค์กรจากธุรกิจครอบครัว (Family Business) เป็นบริษัทมืออาชีพ (Professional) เพื่อเตรียมพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตอันใกล้ บริหารงานปิดงบดุลบัญชีในระบบเดียวกันกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
“ผมโตจากเป็นเจ้านายตัวเอง ไม่เคยอยู่บริษัทใหญ่มาก่อน จึงต้องทดลองฝึกบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ มีกรรมการอิสระมาตรวจสอบบัญชี เพื่อจัดระบบและก้าวไปสู่มืออาชีพ โดย10ปีที่ผ่านมาเราอยู่แบบครอบครัว จึงต้องพิสูจน์ว่า เราอยู่ได้ไม่อึดอัดและเติบโตได้ในระบบมหาชน”
การเข้าตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นทางลัดในการสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างโอกาสเติบได้อีก 10 เท่า ใน 10 ปีข้างหน้า โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน
“ผมเป็นนักวิจัยและนักผลิต ทุกปีมีโปรเจคใหม่ ไม่อยากให้ข้อจำกัดเงินทุนมาเป็นตัวขัดขวางการเติบโต เรามีไอเดีย มีตลาด มีเทคโนโลยี และมีบุคลากร ผมไม่อยากรออีก 50 ปีให้เราเติบโตอีกสิบเท่า”
การเข้าตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ เขาจึงหวังจะเป็นช่องทางการระดมทุน ประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อรองรับกับการขยายตัวของสินค้าในอนาคต ที่เมื่อตลาดเติบโตจนมีความต้องการที่สูงขึ้น ภายหลังจากกฎหมายและภาครัฐเอื้อต่อการใช้ยาสมุนไพร และกัญชา ก็พร้อมจะขยายโรงงานรองรับการผลิตทันที
อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจใหม่ ที่มีการพัฒนาแบรนด์และขยายการผลิต จะเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า รายได้หลักก็ยังเป็นตลาด OEM ในปัจจุบันยังมีสัดส่วน 80% ของรายได้ในปีที่ผ่านมา หรือมูลค่า 250 ล้านบาท จากรายได้ปีที่ผ่านมามูลค่า 300 ล้านบาท โดยตั้งเป้าให้กลุ่มสินค้าทำแบรนด์ขยายตัวขึ้น 30% โดยสินค้าOEM ลดลงมีสัดส่วน 70% ภายใน 5 ปี
“เราเก่งและเติบโตมากับการผลิต และวิจัยเป็นหลัก หน้าที่ของเราที่จะผลักดันคือการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในประเทศไทยให้เป็นยา และสมุนไพรส่งออก ขณะเดียวกันในประเทศ ฐานรายได้สำคัญ ยังคงมาจากการรับจ้างผลิตอาหารเสริม”

สูตรปั้นพอร์ตธุรกิจ
รับโอกาสบูมยาสมุนไพร
-จัดพอร์ต3กลุ่มสินค้าทำเงิน สั้น กลาง ยาว
-หาพันธมิตรร่วมกันศึกษา รุกผลิตภัณฑ์กัญชา
-ต่อยอดสินค้าเกษตรสู่ ตลาดโลก
-เพิ่มไลน์การผลิตสินค้าทำเงิน(Cash flow)
-พลิกการบริหารจากครอบครัว สู่ บริษัทมหาชน