ปรับทัพหนี 'กำไร' ทรุด 'เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น'
ปัจจัยลบรุมเร้า ! กดกำไรสุทธิ 'เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น' ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ลดลง 81.4% 'เฮ็นริคคัส แวน เวสเทนดร็อป' มือปืนรับจ้าง ไม่หวั่นผลักดันแผนธุรกิจปี 2563 พร้อมโลดแล่น ! ส่งซิกปรับโครงสร้างใหม่ หันโฟกัสธุรกิจ 'กำไร' สูง !
จากการปรับโครงสร้างการขายสินค้ามูลค่าสูง เงินบาทแข็งค่า เป็นสาเหตุหลักที่ 'กดดันรายได้' และทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันของ บมจ.เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น หรือ ASIAN ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำแช่แข็ง จำหน่าย และส่งออก ของ 'สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล' ผู้ก่อตั้งและหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง สัดส่วน 51.24% (ตัวเลข ณ วันที่ 9 ต.ค.2562)
สะท้อนผ่าน ผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2562 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 17.98 ล้านบาท 'ลดลง 81.4%' เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 45.6% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ 'รายได้' ลดลง 36.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 26.6% จากไตรมาสก่อน
สารพัด 'ปัจจัยลบ' กดดัน 'อัตรากำไร' ของ ASIAN ลดลงเหลือแค่ 7.1% ในไตรมาสนี้ ซึ่งถือว่า 'ต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส' (เกือบ 2 ปี) จากไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 8.5% และไตรมาส 4 ปี 2561อยู่ที่ 11.3% จากรายได้ในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่เป็นปกติ !
'เฮ็นริคคัส แวน เวสเทนดร็อป' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น หรือ ASIAN เล่าให้ฟังว่า กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีจุดกำเนิดมาจากประเทศจีน มองว่าอาจจะส่งผลกระทบให้การผลิตชะงักไปในช่วง 2 เดือนแรก เนื่องจากเกิดปัญหา 'ระบบขนส่ง' (โลจิสติกส์) ในประเทศจีน แต่ปัจจุบันกลับมาเริ่มผลิตใหม่ได้แล้ว ประกอบกับ 'ความต้องการ' (ดีมานด์) อาหารสัตว์เลี้ยงในจีนยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงบริษัทมีสัดส่วนยอดขายจากจีนเพียง 5% เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่กระทบยอดขายรวมบริษัทมากนัก !
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2563 บริษัทเดินหน้าขยายตลาดใหม่และโฟกัสธุรกิจที่มีขีดความสามารถในการทำ 'กำไร' โดยจะมี 'การปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่' ขยายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ทั้งในกลุ่มรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก และเร่งสร้างแบรนด์ของตนเองให้รู้จักมากยิ่งขึ้น !
สืบเนื่องจากปลายปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทมีการทบทวน 'กลยุทธ์ทางธุรกิจ' และ 'ปรับกลุ่มธุรกิจ' ให้สอดคล้องกับทิศทางการขยายธุรกิจในอนาคต โดยวางแผนกลยุทธ์แยกเป็น '4 กลุ่มธุรกิจ' ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ กลุ่มธุรกิจทูน่า และกลุ่มธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง โดยในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง บริษัทยังคงมุ่งเติบโตยอดขายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตนเอง และเพิ่มกำลังการผลิตทั้งในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก และอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ด
ในขณะที่กลุ่มอาหารสัตว์น้ำ เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายตลาดผ่านการขยายธุรกิจเพาะพันธุ์ลูกกุ้ง กลุ่มธุรกิจทูน่า เน้นเติบโตในตลาดเฉพาะ (niche market) และในกลุ่มธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง มุ่งหาตลาดใหม่และขยายตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
ฉะนั้น ปีนี้สัดส่วนยอดขายเชิงปริมาณของธุรกิจจะเหลือเพียง 4 กลุ่ม คือ ธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งและจัดจำหน่ายมีสัดส่วนราว 35% ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 35% ธุรกิจทูน่า 16% และธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 14% จากเดิมมาจาก 5 กลุ่มหลัก คือ ธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง มีสัดส่วนราว 38% ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 27% ธุรกิจทูน่า 13% ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 13% และธุรกิจจัดจำหน่าย 7%
โดยสนับสนุนกลยุทธ์ดังกล่าว หลังจากคลังสินค้าระบบอัตโนมัติของ ASIAN ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และเริ่มใช้งานแล้วในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะเสริมประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
'ฉะนั้น ในปี 2563 บริษัทจึงวางเป้ารายได้เติบโต 10% แตะ 9,100 ล้านบาท และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 10% เช่นกัน'
โดย 'ปัจจัยบวก' ที่จะสร้างการเติบโตในปี 2563 เขาบอกว่า มาจากการขยายสินค้า 'อาหารสัตว์เลี้ยง' ที่จะกลับมาสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะ 'แบรนด์มองชู' (monchou) เพิ่มขึ้นทั้งตลาดเมืองไทยและจีน โดยคาดว่าจะเติบโตกว่า 30% ทั้งจากกลุ่ม 'ธุรกิจรับจ้างผลิต' (OEM) และ 'กลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตนเอง'
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมที่จะออกผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขแบบเม็ดแบรนด์ใหม่ ภายใต้ชื่อแบรนด์ 'ฮาจิโกะ' ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ไม่เกินเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ราคาสินค้าขายไม่สูงมาก นอกเหนือจากที่บริษัทจะรับรู้รายได้อาหารสัตว์เลี้ยงจากโรงงานในเมืองจีน และธุรกิจทูน่าที่เติบโต 'โดดเด่น' อีกด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศจีนที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในช่วงปีก่อน คาดว่าจะสามารถเริ่มกำลังการผลิตและรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นต้นไป โดยจะมี 'กำลังการผลิต' (Capacity) ปีนี้ประมาณ 5,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตรวมประมาณ 2 หมื่นตันต่อปี ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยและจีนยังไม่รวมแบรนด์ใหม่จะมีรายได้เข้ามาประมาณ 300 ล้านบาท
สำหรับ 'ธุรกิจทูน่า' ปีนี้คาดว่าจะโต 35% จากปีก่อนที่มียอดขายประมาณ 1,100 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้คาดว่าราคาวัตถุดิบจะผันผวนน้อย และ ASIAN ยังจับ 'กลุ่มไฮมาร์จิน' ในตลาดทูน่าได้ ด้าน 'ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ' จะดีกว่าปีก่อนเช่นกัน และมีแนวโน้มได้ส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มอาหารกุ้งเพิ่มขึ้น คาดเติบโตกว่า 20%
ส่วน 'ธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง' ปีนี้คาดว่าหดตัวราว 20% เนื่องจากตลาดแข็งขันรุนแรงมากขึ้น โดยจะเน้นขยายตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่ม Pre-fried หรือ กลุ่มของทอด ขยายฐานลูกค้ารายใหม่ ๆ เพิ่มแทน
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของงบลงทุนปีนี้ใช้ 230 ล้านบาท เพื่อการสร้างไลน์ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ดในไทย และลงทุนเครื่องจักรอัตโนมัติในธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อทดแทนแรงงานคน
ขณะที่ ผลการดำเนินงานปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 8,194 ล้านบาท ลดลง 15% เทียบกับปี 2561 ที่มีรายได้ 9,649 ล้านบาท โดยยอดขายเชิงปริมาณอยู่ที่ราว 88,000 ตัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ยอดขายที่ลดลงเป็นผลจากราคาขายเฉลี่ยและค่าเงินบาทแข็งค่า ขณะที่กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 133 ล้านบาท ลดลง 63.26% จากปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 362 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 8% ลดลงจาก 10.4% ในปีก่อนหน้า เนื่องจากมีอัตรากำไรต่ำในกลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งแช่เยือกแข็ง และค่าเงินบาทแข็งค่า
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงคำนึงถึงผู้ถือหุ้นเป็นหลัก จึงพิจารณาจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 0.20 บาทต่อหุ้น โดยจ่ายจากกำไรสะสม
ท้ายสุด 'เฮ็นริคคัส' บอกไว้ว่า ในปีนี้เราจะต้องเร่งขยายตลาดมองชู (monchou) ทั้งในไทยและจีน หลังจากผลิตภัณฑ์เริ่มเป็นที่รู้จักแล้ว รวมทั้งการเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมเตรียมเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในช่วงกลางปีนี้ เจาะตลาดราคาจับต้องง่าย
ลุ้นไตรมาส 1 พลิก 'สดใส'
'พงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์' นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส บอกว่า ฝ่ายวิจัยฯ มีการปรับคำแนะนำ 'หุ้น เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น' เพิ่มขึ้นเป็น 'ถือ' หลังจากที่ปรับคำแนะนำลงไปเป็น 'เต็มมูลค่า' ประกอบกับราคาหุ้นก็ปรับตัวลงมาจากราคา 7.30 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาพื้นฐานล่าสุดในปี 2563 อยู่ที่ 4.30 บาท ราคานี้เริ่มมีส่วนเพิ่มจากราคาปิด และถือว่ารับรู้ปัจจัยลบไประดับหนึ่งแล้ว
โดยกำไรไตรมาส 4 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 17.98 ล้านบาท ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ -81.4% จากปีก่อนและ -45.6% จากไตรมาสก่อน แต่ใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้ที่ +16.6 ล้านบาท เป็นผลมาจากทั้งอัตรากำไรที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส รวมถึงรายได้ที่ลดลง โดยรายได้ไตรมาสนี้ลดลง -36.3% จากปีก่อน และ -26.6% จากไตรมาสก่อน ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่รายได้ยังไม่กลับไปเป็นปกติ หายไปอย่างมีนัยสำคัญค่าเงินบาทที่แข็งค่า และธุรกิจอาหารแช่แข็งกดดัน
ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือเพียง 7.1% จากระดับปกติที่อัตรากำไรขั้นต้นต่ำสุดปกติยังเหนือ 8%และเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี เป็นผลจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่กลับไปเป็นปกติ และมีคำสั่งซื้อสินค้าของธุรกิจนี้บางส่วนที่ยังไม่สามารถส่งสินค้าได้ทันในไตรมาสนี้ ซึ่งจะทำให้ไตรมาสหนึ่งได้รับประโยชน์
ในขณะที่การเปลี่ยนนโยบายไปขายสินค้าที่มีอัตรากำไรที่สูงกว่าสินค้าโภคภัณฑ์เดิม ยอดขายยังไม่เพิ่มขึ้นเร็วนักทว่า ค่าเงินบาทเริ่มกลับไปอ่อนค่า ซึ่งแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่า จากผลกระทบการท่องเที่ยวที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิท-19 ส่งผลต่อดุลบริการของไทยและมีโอกาสทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะเป็นบวกกับบริษัทเนื่องจากยอดส่งออกของบริษัทคิดเป็นรายได้ 80% ของรายได้รวม เป็นบวกกับบริษัทโดยตรง