'ราช กรุ๊ป' ห่วงแล้งฉุดกำลังผลิตไฟฟ้า 'น้ำงึม 2'

'ราช กรุ๊ป' ห่วงแล้งฉุดกำลังผลิตไฟฟ้า 'น้ำงึม 2'

“ราช กรุ๊ป” ติดตามสถานการณ์เขื่อนน้ำงึม2 ในลาว เล็งลดกำลังผลิตตามเงื่อนไข “พีพีเอ” หากปริมาณน้ำน้อย ชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินได้อานิสงค์ผลิตไฟเพิ่ม 

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัท อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในปี2563 จะส่งผลกระทบต่อกำลังผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนอย่างไร โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 ซึ่งตั้งอยู่ใน สปป.ลาว ซึ่งจะต้องติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนอย่างต่อเนื่อง เพราะหากมีน้ำน้อยก็อาจจะต้องปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าลงตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ซึ่งปัจจุบัน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 2 บริษัท มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนอยู่ที่ 153.75 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม กำลังผลิตรวม 615 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย คือ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 42% บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 25% และ EDL-Generation PLC (EDLGen) 25%

ส่วนการผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว ที่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากน้ำในเขื่อน พบว่า ยังไม่มีผลกระทบจากภัยแล้ง และในทางกลับกันโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ยังตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยทำให้ ปริมาณน้ำยังมีเพียงพอ

ขณะเดียวกัน หากกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวลดลง ก็ถือว่าเป็นผลดีกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา ที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน อาจจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตมาชดเชยให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะส่งมาจำหน่ายให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้น

โดยโรงไฟฟ้าหงสา เป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนร่วมทุนของบริษัท รวม 751.20 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 1,878 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว 20% ,บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ 40% และบริษัท ราช กรุ๊ป 40%

นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศไทย ยังไม่พบว่ามีปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตก ขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ก็ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ