ธุรกิจต้องงัดแผนด่วน รับมือวิกฤติโควิด-19
หากประเมินแบบไม่เข้าข้างใครปี 2563 ปีนี้ทั้งปี น่าจะเป็นอีกปีที่ยากลำบากของธุรกิจทั่วโลก ภาคธุรกิจเองต้องไม่ประมาท แผนฉุกเฉินหรือบีซีพีต้องงัดขึ้นมา และปรับให้เหมาะสม
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติ ท่ามกลางมาตรการรับมือที่ทุกประเทศต่างใช้วิธีที่ต่างกันไป ไม่มีใครกล้าประเมินว่า การแพร่ระบาดจะหยุดลงเมื่อไหร่ แต่ถ้าประเมินแบบไม่เข้าข้างใครปี 2563 ปีนี้ทั้งปี น่าจะเป็นอีกปีที่ “ยากลำบาก” ของธุรกิจทั่วโลก รวมถึงไทยที่ต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน ไล่เรียงมาตั้งแต่สงครามการค้า สงครามพายุดิจิทัล ดิสรัปชั่น และล่าสุดสงครามเชื้อโรค เราเห็นหลายธุรกิจ เริ่มประเมินความเสี่ยง และมาตรการการรับมือที่จะประคับประคองให้ธุรกิจฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
แม้แต่ธุรกิจไอที ดิจิทัล ที่หลายคนมองว่า น่าจะได้รับประโยชน์จากวิกฤติครั้งนี้มากที่สุด เพราะเมื่อคนงดการทำกิจกรรม ยกเลิกการสัมมนา ยกเลิกการประชุม แล้วหันมาใช้เทคโนโลยีออนไลน์ วิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ เป็นช่องทางทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปกรณ์ด้านเน็ตเวิร์ค อุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ในตลาดขยายตัว ขณะที่พฤติกรรมการจับจ่ายผู้คนหันมาช้อปออนไลน์ ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากสิ่งที่ยังน่ากังวล และไม่ควรมองข้าม คือ เรื่อง “ซัพพลายเชน” ที่ต้องยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ไอทีหลายประเภทผลิตจากจีน ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติไวรัส ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีผู้ค้าไอทีในไทยแสดงความกังวลถึงการขาดแคลนสินค้าบางตัว บางรุ่น
ประเด็นนี้ “การ์ทเนอร์” บริษัทวิจัย และให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก ได้ออกรายงานย้ำเตือนว่า ผลกระทบโควิด-19 จะกระทบต่อซัพพลายเชนอย่างรุนแรง และธุรกิจต้องเร่งหามาตรการรับมือ เพราะจะเกิดการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ หรือสินค้าสำเร็จรูป ที่ขนส่งผ่านศูนย์โลจิสติกส์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ด้านแรงงาน อาจเกิดการขาดแคลนพนักงานออฟฟิศ หรือคนงานในโรงงาน เนื่องจากถูกกักกันโรค หรือจากอาการเจ็บป่วย จนกระทบการเข้าถึงแหล่งต้นทางของสินค้า หรือการบริการ เนื่องจากการเดินทางอาจถูกจำกัด ขณะที่โรงงานในจีน ซึ่งถือเป็นซัพพลายเชนรายใหญ่ของโลก ก็ยังไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่ กว่าสถานการณ์จะกลับมาคลี่คลายเป็นปกติ คงต้องใช้เวลาพอสมควร เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ หากเหตุการณ์ยืดเยื้อ ลากยาวเกินกลางปีนี้ ธุรกิจหลายตัวอาจต้องเหนื่อย และคงต้องหันมาทบ ทวนแผนกันใหม่ ดังนั้นธุรกิจควรต้องประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน และหามาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน
เราเห็นว่า มาตรการภาครัฐชุดแรกที่ออกมาเพื่อพยุงภาคธุรกิจ ถือเป็นสิ่งที่ดี ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่หลักเกณฑ์ต่างๆ รัฐต้อง “ชัดเจน” และโปร่งใส พร้อมมองยาวๆ ไปถึงมาตรการขั้นสุด หลังโรคระบาดยุติ การพลิกฟื้นของภาคธุรกิจ มาตรการเร่งด่วนที่จะอัดฉีด รับมือ ต้องเกิดขึ้นโดยทันที ขณะที่ ภาคธุรกิจเองต้องไม่ประมาท แผนฉุกเฉินหรือบีซีพี (Business Continuity Planning) ต้องงัดขึ้นมา และ "ปรับให้เหมาะสม" อาจต้องตั้งทีมภายในองค์กรประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน ปรับใช้โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ไม่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์เกินไป จนส่งผลให้ธุรกิจชะงัก หากต้องหาวิธีประคองให้ธุรกิจสามารถเดินฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างบอบช้ำน้อยที่สุด