ตลาดน้ำมันโลกป่วน 'ซาอุฯ' เปิดศึกสงครามราคา โบรกห่วงกดดันหุ้น PTT-PTTEP
ตลาดน้ำมันโลกกำลัง “ปั่นป่วน” อย่างหนัก หลัง “รัสเซีย” หักข้อตกลงเรื่องการ “ลดกำลังผลิต" น้ำมันกับทางกลุ่ม “โอเปก”
ในขณะที่ “พี่ใหญ่” ของ “โอเปก” อย่าง “ซาอุดิอาระเบีย” เมื่อคำขอร้องไม่เป็นผล จึงประกาศ “ลดราคาน้ำมัน” พร้อมกับสั่ง “เพิ่มกำลังการผลิต” ในวันถัดมา
ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมน้ำมันโลก จึงกลับมา “ร้อนระอุ” อีกครั้ง คนในวงการน้ำมันเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ครั้งนี้กำลังนำไปสู่ “สงครามราคาน้ำมัน” (Price war) รอบใหม่หรือไม่?
เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจาก การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่องราว 13% นับจากต้นปี
ด้วยเหตุนี้ “โอเปก” จึงจัดประชุมเร่งด่วนในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมเชิญพันธบัตรหลัก เช่น “รัสเซีย” เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมี “เป้าหมาย” ลดกำลังการผลิตในกลุ่มลง 2% หรือราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่รอบนี้ “รัสเซีย” ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว จึงทำให้การประชุมครั้งนี้ล้มเหลว
เมื่อตลาดน้ำมันทราบผลการประชุม ราคาน้ำมันในตลาดต่างๆ ดิ่งลงทันที ส่งผลให้ ราคาน้ำมันดิบ WTI เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ปิดตลาดลดลงถึง 10.07% มาอยู่ที่ 41.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ สัญญาน้ำมันดิบ เบรนด์ ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 9.44% มาอยู่ที่ 45.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
หลังการประชุมร่วมระหว่าง “โอเปก” กับพันธมิตรอย่าง “รัสเซีย” ไม่ประสบความสำเร็จ “ซาอุดิอาระเบีย” พี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปก แก้เกมด้วยการเรียกประชุมภายในกลุ่มต่อทันทีในช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา
กระทั่งหลังการประชุมเสร็จสิ้น “ซาอุดิอาระเบีย” ออกมาประกาศว่าจะ “ลดราคาน้ำมัน” และ “เพิ่มกำลังผลิต” โดยมีกระแสข่าวว่า “ซาอุฯ” อาจเพิ่มกำลังผลิตไปจนถึงระดับ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจุบันประเทศที่ผลิตน้ำมันมากสุด คือ
- สหรัฐ ผลิตราว 12.8 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 15.6% ของกำลังการผลิตโลก
- รัสเซีย ผลิตราว 11.2 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 13.7% ของกำลังการผลิตโลก
- ซาอุดิอาระเบีย ผลิตราว 9.9 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 12.1% ของกำลังผลิตโลก
สำหรับการประกาศ “ลดราคาน้ำมัน” ของ ซาอุฯ ในครั้งนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลก อยู่ระดับต่ำสุดรอบ 20 ปี โดยราคาที่ลดลง เป็นการลดในส่วนของ OSP Premium แบ่งระดับการลดดังนี้
1.น้ำมันที่ขายให้กับ เอเชีย ลดลง 6 ดอลลาร์
2.น้ำมันที่ขายให้กับ สหรัฐ ลดลง 7 ดอลลาร์
3.น้ำมันที่ขายให้กับ ยุโรป ลดลง 8 ดอลลาร์
บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์ประเมินว่า ทิศทางราคาน้ำมันโลกหลังจากนี้มีแนวโน้ม “ผันผวน” ใน “ขาลง” และมีโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี มีโอกาสต่ำกว่าสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2563 ซึ่งฝ่ายวิจัย ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ราวๆ 47 ดอลลาร์ ส่วนค่าเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 58.04 ดอลลาร์
ฝ่ายวิจัยประเมินด้วยว่า ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงทุกๆ 5 ดอลลาร์ จะกระทบต่อ มูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) ที่ลดลงราว 10-14 บาทต่อหุ้น และยังกระทบต่อ มูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น บมจ.ปตท(PTT) ราว 2-3 บาทต่อหุ้น ระยะสั้นจึงแนะนำชะลอลงทุน