'บีจีซี' ชี้ยอดผลิตขวดแก้วพุ่ง ต่างชาติหันออเดอร์ผู้ผลิตไทยแทนจีน
บีจีซี ชี้ยอดผลิต-ส่งออกขวดแก้วพุ่ง หลังผู้ใช้เบนสั่งผู้ผลิตไทยแทนจีน โดยเฉพาะในสหรัฐ อินเดีย ดันยอดขายไตรมาสแรกโตตามเป้า คาดทั้งปีโต 5-10% รายได้ 1.3 หมื่นล้าน เตรียมงบลงทุน 3,500 พันล้านบาทซื้อธุรกิจแพคเกจจิ้งเสริมพอร์ตขายพ่วงขวดแก้วเพิ่มกำไร
นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด หรือ บีจีซี (BGC) เปิดเผยถึง แผนธุรกิจในปี 2563 ว่า หลังจากพิจารณาผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไข้หวัดโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยอดขายในไตรมาส1 ปี 2563 เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ทั้งจากลูกค้าในประเทศและลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐ มีการเพิ่มออเดอร์เข้ามา ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดสงครามการค้า (Trade War) จึงมีโอกาสได้ออเดอร์จากลูกค้าซึ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่นำเข้ามูลค่า 50,000 ล้านบาท เข้ามาสั่งผลิตขวดแก้วในไทยเพื่อทดแทนตลาดจีน ส่งผลทำให้รายได้ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นไปตามเป้าที่วางไว้
“หลังจากตรวจสอบดูตัวเลขยอดขายไตรมาสแรกในปี 2563 เพื่อพิจารณาผลกระทบจากโควิด -19 พบว่ายอดขายยังเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งเป็นผลมาจากออเดอร์ในประเทศที่สั่งซื้อของจากจีนไม่ได้ก็หันมาซื้อจากไทย และยังมีลูกค้าส่งออกจากต่างประเทศ ที่สั่งซื้อเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีลูกค้าใหม่จากสหรัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากเทรดวอร์ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ราคาของโรงงานBGCจึงแข่งขันได้และมีคุณภาพจึงหันมาสั่งซื้อจากBGC”
ทั้งนี้จากการเติบโตที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา พร้อมกันกับปรับกลยุทธ์ธุรกิจ แผนการทำการตลาด จะส่งผลทำให้คาดการณ์รายได้BGCรวมทั้งปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 5-10%
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2563 เน้นเพิ่มลูกค้าจากประเทศที่ส่งออกประจำอยู่แล้ว ประกอบด้วย กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ และอินเดีย โดยล่าสุดในปลายปีที่ผ่านมามีลูกค้ารายใหญ่ที่มีออเดอร์หลักร้อยล้านบาทจากสหรัฐ เข้ามาเพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ
“สภาพความต้องการตลาดในบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วในโลกมีความต้องการมากกว่าการผลิต จึงทำให้ปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการเพิ่มลูกค้าส่งออกในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐ ออสเตรเลีย และยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความตื่นตัวในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ซัพพลายไม่เพียงพอ ออเดอร์จึงเพิ่มขึ้น และขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ จึงเป็นโอกาสในการทำตลาดขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในประเทศที่มีลูกค้าอยู่แล้ว”
ศิลปรัตน์ ยังกล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีแผนการเพิ่มการเติบโตโดยการขยายธุรกิจผ่านการซื้อกิจการ (Acquire) โดยเตรียมงบประมาณมูลค่า 2-3,000 ล้านบาท เพื่อเจรจาปิดดีลซื้อโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ เช่น ฝาขวดแก้ว กล่องกระดาษ ที่จะช่วยทำให้ต่อยอดการทำการตลาดขายสินค้าพร้อมกับขวดแก้ว (Synergy) ช่วยเพิ่มรายได้ธุรกิจเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการช่วยเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาประมาณ 2-3 ราย คาดว่าจะปิดดีลภายในปีนี้
อีกทั้ง ยังวางแผนเจรจาเข้าไปซื้อธุรกิจพลังงานในต่างประเทศ ทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน อาทิ เวียดนาม โดยการเปิดกว้างธุรกิจพลังงานหลากหลายประเภท ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้ภิภพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาโรงงานพลังงานในต่างประเทศ ประมาณ 2-3 แห่ง คาดว่าการขยายธุรกิจพลังงานจะทำให้สัดส่วนรายได้ธุรกิจพลังงานเติบโตขึ้นจากสัดส่วน 5% ในปี 2562 เพิ่มเป็นสัดส่วน 10-15% ภายใน 5 ปี จากปัจจุบัน 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้านบาท