'OPEC+' ล้ม ทฤษฎีสมคบคิด หรือ ทฤษฎีเกม?
วิเคราะห์ปรากฏการณ์ OPEC+ จากการประชุมผู้ส่งออกน้ำมันของโลกอย่างโอเปค กับรัสเซีย ที่จบลงโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ จนทำให้ซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ตัดสินใจสิ้นสุดการร่วมมือคงกำลังการผลิตน้ำมัน ผ่านมุมมองของทฤษฎีสมคบคิด และทฤษฎีเกม
ยุคปี 2020 ถือว่ามีหลายเรื่องราวอะไรที่ไม่เคยเกิด ก็ได้เห็นกันในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นโคโรนาไวรัสที่กระจายไปทั่วโลก หรือไปถึงกระทั่งการประชุมผู้ส่งออกน้ำมันของโลกอย่างโอเปคกับรัสเซีย หรือ OPEC+ ที่จบด้วยการไม่มีข้อตกลงใดๆ จนท้ายสุด ทั้งขาใหญ่เจ้าเก่าอย่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียต่างคนต่างความคิด ตัดสินใจสิ้นสุดการร่วมมือคงกำลังการผลิตน้ำมัน กลับหันมาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจนราคาน้ำมันดิบแตะระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อต้นสัปดาห์
จนมีความเห็นออกมาจากหลายแหล่ง บ้างก็ว่าเป็นการแท็คทีมสไตล์ทฤษฎีสมคบคิด เพื่อดัดหลังสหรัฐที่ไม่ทุ่มงบมาช่วยด้านการทหารในฐานะตำรวจโลก มาดูแลไม่ให้อิหร่านมาเหิมเกริมในย่านตะวันออกกลางเพื่อหวังล้างไพ่เงินดอลลาร์ในฐานะที่เป็นสกุลในการค้าน้ำมันภายใต้การช่วยเหลือของจีนในทางลับ บ้างก็ว่ามองเรื่องนี้ให้เป็นแบบสามก๊ก โดยโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐเป็นโจโฉ เจ้าชาย MBS แห่งซาอุดีอาระเบียในวัยที่ยังไม่ครบ 35 ปีเป็นเล่าปี่ และวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเป็นซุนกวน ทั้งสามก๊กกำลังสัประยุทธ์กันอยู่
สำหรับในเรื่องนี้ ผมเห็นว่าเหตุผลหลักของงานนี้น่าจะเป็นดังนี้
1.คู่หู Bad Boys ยุค 2020 ใหม่ล่าสุดอย่างเจ้าชายมูฮัมมัด บิล ซาลมาน หรือ MBS แห่งซาอุดีอาระเบีย และวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่ทั้งคู่ถือว่ามีความสนิทสนมกันในระดับหนึ่ง ต้องการแสดงพลังด้าน Soft Power ให้กับชาวโลกได้เห็น หรือหากจะมองเป็นอุบัติเหตุก็อาจจะเป็นไปได้ว่าด้วยเจ้าชายท่านใหม่ดูแล้วภาพรวมแข็งกร้าวขึ้นกว่ารุ่นก่อน ด้านฝั่งรัสเซียด้วยความที่มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกว่าเมื่อหลายปีก่อน ทำให้เกมนี้เลยออกมาแบบ prisoner’s dilemma หรือต่างคนต่างเลือกในสิ่งที่ตนเองต้องการสูงสุดตามอัตตาของตนเอง เนื่องจากมีความกล้าเลือกโดยไม่ต้องมองภาพรวมเหมือนเมื่อก่อน จึงทำให้ทางเลือกที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงมาเป็นผลลัพธ์แบบไม่โสภาของเกมนี้
2.ภายใต้บรรยากาศที่อุปสงค์น้ำมันของโลกในปีนี้ที่น่าจะตกต่ำจากโคโรน่าไวรัสและภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เดิมอยู่แล้ว การเลือกจะเล่นเกมแบบเน้นผลิตเยอะๆ ณ นาทีนี้ น่าจะทำกำไรต่อผู้เล่นมากกว่าการเลือกที่จะทำให้ราคาน้ำมันสูง เนื่องจากค่าสัมประสิทธิ์ของเส้นอุปสงค์ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมีความยืดหยุ่นต่อการลดราคาหรือเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่า กล่าวคือการเลือกผลิตเยอะแต่รับกำไรต่อหน่วยจะคุ้มกว่าเลือกดึงราคาให้สูงแต่ผลิตน้อยๆ
ที่สำคัญในทฤษฎีเกมที่มีผู้เล่นน้อยราย (Oligopoly) การเล่นเกมแบบที่เป็นผู้เลือกก่อนคนอื่น (อย่างที่รัสเซียและซาอุดีอาระเบียทำไปแล้ว) หรือเลือกปริมาณการผลิตให้เยอะก่อนที่ผู้เล่นอื่นๆ จะมีโอกาสขยับตัวในการเลือก อย่างอิรักและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยับปริมาณการผลิตขึ้นตามในตอนนี้ ผู้เลือกก่อนจะสามารถทำกำไรสูงกว่าผู้เล่นคนอื่นๆ หลายเท่าตัว เราเรียกเกมนี้ว่าเกมแบบ Stackelberg
โดยเกมแบบ Stackelberg ผู้เลือกก่อนอย่างรัสเซียและซาอุดีอาระเบียได้เปรียบแบบเต็มๆ
คราวนี้หันมาดูระดับราคาน้ำมันที่จะทำให้งบรัฐบาลของประเทศกลุ่มส่งออกน้ำมันของโลก สามารถทำให้งบสมดุลได้ดังรูป จะเห็นได้ว่ารัสเซียอยู่ที่ราว 40 ปลายๆ ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนซาอุดีอาระเบียที่เกือบ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเหตุผลในการทำให้ราคาน้ำมันถูกลงกว่าระดับราคา cut-off ของรัสเซียก็เพื่อแสดง Soft Power ของตนเองให้โลกได้รู้
3.การลดราคาน้ำมันลงครั้งนี้ถือว่าตัดบริษัท Shale Oil ของสหรัฐ ออกจากเกมไปได้พักใหญ่ เนื่องจากลำพังก่อน OPEC+ ก็แทบอยู่ในธุรกิจไม่ได้อยู่แล้ว
คราวนี้ มาถึงเกร็ดเล็กๆ น้อย สำหรับผมที่มองว่าคำอธิบายหรือเรื่องราวสร้างมาอธิบายปรากฏการณ์นี้ อาจดูแล้วไม่ตรงกับความจริงนัก มีดังนี้
เริ่มจาก ทำไมทฤษฎีการล้มสกุลเงินดอลลาร์ ผมว่าโอกาสไม่น่าจะเป็นไปได้มากนัก เนื่องจากน้ำมันซื้อขายกันราว 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 4,000 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ต่อให้มีตราสารทางการเงินจาก WTI ก็ยังขึ้นไปกว่านี้ไม่ได้ไกลมากจนเงินสกุลดอลลาร์ที่ใช้ในการนี้จะมีสัดส่วนของการค้าน้ำมันที่มีนัยสำคัญต่อเงินดอลลาร์ทั้งหมด และการที่คู่หูใหม่แห่งยุค 2020 จะโค่นทรัมป์นั้น ผมยังมองว่าทั้งคู่คงอยากจะให้ทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐต่ออีก 4 ปีมากกว่าโจ ไบเดน
ส่วนประเด็นการเปรียบเทียบกับสามก๊กนั้น ผมมองว่าเริ่มต้นจากคาแรกเตอร์ก็ดูไม่เข้ากันนัก ที่ว่าทรัมป์เป็นโจโฉนั้นค่อนข้างยาก ทรัมป์ไม่ถนัดการทหารส่วนโจโฉถนัดการรบ เจ้าชาย MBS ก็ดูแล้วนิสัยตรงข้ามกับเล่าปี่แบบสุดขั้ว โดยถ้าเป็นเจ้าชาย MBS หากขงเบ้งไม่ยอมลงจากเขามาช่วย คงไม่ได้มีโอกาสไปต่ออีกเลย ส่วนปูตินก็ดูแล้วไม่ใช่ซุนกวน เพราะปูตินถนัดการรบแบบภาคพื้นดินมากกว่าทางเรือ รวมถึงอุปนิสัยก็ต่างกันแบบสุดขั้ว
มาถึงทางด้านผู้ได้ประโยชน์จากการลดราคาน้ำมันในรอบนี้ได้แก่ จีน ซึ่งผมมองว่าตลาดหุ้นจีนอาจเป็น Safe Haven แห่งใหม่ในช่วงเวลาที่สหรัฐและยุโรปกำลังวุ่นวายกับการจัดการโคโรนาไวรัสแบบเต็มรูปแบบ ณ นาทีนี้ครับ