'ค่าเงินบาท' ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ไทยถึงกลับมาผงาดได้อีกครั้ง

'ค่าเงินบาท' ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ไทยถึงกลับมาผงาดได้อีกครั้ง

เปิดทฤษฎีคำนวณ "ค่าเงินบาท" ในระดับที่เหมาะสมกับไทยในสถาการณ์ปัจจุบัน เพื่อเปิดช่องทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมแนวทางป้องกันตัวจาก "สงครามค่าเงิน" ศึกรูปแบบใหม่ของมหาอำนาจที่เราอาจไม่รู้ตัว

สถานการณ์ "ค่าเงินบาท" ของไทยยังอยู่ในระดับ 32.530 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 21 เม.ย. 63) แม้จะอ่อนลงจากช่วงปลายปี 2019 แล้ว แต่หากคำนวณอัตราค่าเงินที่เหมาะสม จากการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate, NEER) และดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate, REER) พบว่า..

แท้ที่จริงแล้ว ค่าเงินบาทของในที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่ใช่ค่าเงินบาทที่เหมาะสม อย่างที่หลายคนดีใจ!

158459662442

ปัญญา จรรยารุ่งโรจน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Global Markets ธนาคาร HSBC & Citibank ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดเงินมากว่า 35 ปี กล่าวในการประชุมระดมสมอง ออมดอลลาร์ช่วยชาติ กองทุนรวมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยบริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด เกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทไทยที่เกิดขึ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าแท้ที่จริงแล้ว ณ เวลานี้เงินบาทควรอยู่ในระดับเท่าไหร่ จึงจะสามารถอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ 

เมื่อย้อนดูข้อมูล ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เปรียบเทียบกับ ดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณหาอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม ณ เวลาหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล วิธีนี้ทำให้พบว่า ค่าเงินบาทที่ 32.530 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 21 เม.ย. 63) ยังไม่ใช่ค่าเงินบาทที่เหมาะกับประเทศไทย ณ เวลานี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537-2562 สะท้อนว่า แท้ที่จริงแล้วดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ของไทย ณ เวลานี้ ควรอยู่ในระดับ 38.5 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) ควรอยู่ในระดับที่ 35 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ

158458770762


หมายเหตุ :
 การเพิ่มขึ้นของดัชนีค่าเงิน หมายถึง เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย สะท้อนว่าไทยเสียเปรียบด้านราคาโดยรวมเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง NEER คำนวณโดยเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย 25 สกุล และนำมาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนการค้าระหว่างกัน REER คำนวณจาก NEER ปรับด้วยระดับราคาโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง สะท้อนอำนาจซื้อที่แท้จริงและความสามารถในการผลิตสินค้าของประเทศ 

 

เมื่อค่าเงินบาทไทยยังแข็งค่าอยู่ระดับ 31.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งห่างจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และ ดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) ที่ควรจะเป็น ทำให้ประเทศเสียความสามารถในการแข่งขัน และกระทบต่อการเติบโตของประเทศ

“ค่าเงินบาทที่แข็งกว่าปัจจัยพื้นฐานเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ทำให้เราเสียความสามารถในการแข่งขัน และ ขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง เปิดโอกาสให้นักเก็งกำไรค่าเงินต่างชาติมาโจมตีค่าเงินบาทจนทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักในห้วงเวลานี้ เราก็เสียความสามารถในการแข่งขันเช่นเดียวกัน เศรษฐกิจก็กำลังชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้” ปัญญา กล่าว 

โดยการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ไม่ควรปล่อยให้เศรษฐกิจพังจนเงินบาทอ่อนลงเองตามกลไกตลาด แต่ควรให้ความสำคัญกับการแก้ที่โครงสร้างของปัญหา โดยต้องให้เงินบาทอ่อนลงจากการบริหารจัดการที่เหมาะสม ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการเงินภาคธุรกิจ และนักวิชาการ

158458868178

แนวทางแก้เงินบาทแข็ง

  • แก้ปัญหาจากการทำความเข้าใจกับ "ข้อเท็จจริง" ที่เกิดขึ้นในไทย มากกว่าการยึดแค่ "ทฤษฎี"

1.1) ในทางทฤษฎีระบุว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้บาทแข็ง ขณะที่ข้อเท็จจริงในแนวทางปฏิบัติ ค่าเงินไม่จำเป็นต้องผูกกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากจนเกินไป สะท้อนจากประเทศเยอรมนีที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากที่สุดในโลก เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน แต่ค่าเงินยูโรอยู่ในระดับที่อ่อนมาก

1.2) ในทางทฤษฎีระบุว่า เงินบาทแข็งให้เน้นการออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่ข้อเท็จจริงในแนวทางปฏิบัติ สินทรัพย์เสี่ยงขึ้นมาสูงมากยาวนานเป็นสิบปี จึงเป็นการแนะนำให้ลงทุนที่เสี่ยงเกินไป

นอกจากนั้นส่วนใหญ่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ไม่มีผลต่อการแลกเปลี่ยน เป็นเพียงเอาเงินออมที่มีค่าของไทยไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งเท่ากับนำเงินออมของไทยไปพัฒนาประเทศอื่น

1.3) ในทางทฤษฎีระบุว่า เงินบาทแข็งคือโอกาสในการลงทุนสั่งเข้าสินค้าทุนต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงในแนวทางปฏิบัติ เงินบาทแข็งทำให้เศรษฐกิจหดตัว ไม่เจริญเท่าที่ควร กำลังซื้อต่ำ คนที่จะลงทุนเพื่อทำธุรกิจในประเทศต้องเผชิญกับปัญหาการบริโภค และกำลังซื้อภายในประเทศต่ำย่อมไม่สั่งของเข้ามาในประเทศเพื่อขยายธุรกิจ

การสั่ง robot เข้ามาแทนแรงงานคนยิ่งทำให้อัตราว่างงานสูง เพราะตกงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่ต้องการผลิตเพื่อส่งออกก็ยิ่งเสียเปรียบด้านการแข่งขันเพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่เอื้อ ต่อการผลิตเพื่อส่งออก

  •  แก้ปัญหาโครงสร้าง

นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องหาวิธีแก้ปัญหาทางโครงสร้าง ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นก่อนวิกฤติ ปี 1997 ประเทศไทยขาดเงินออม ทำให้ต้องยอมรับกติกามหาอำนาจ โดยต้องยอมเปิดรับทุนต่างชาติอย่างเสรี และห้ามคนในประเทศถือเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเงินออม และค่าเงินเอาไว้

ณ ปัจจุบันปี 2020 ประเทศไทยใช้เวลา 15 ปีสะสมเงินออมที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแต่ยังมีโครงสร้างที่ยอมรับกติกามหาอำนาจ ซึ่งทำให้นักเก็งกำไรต่างชาติ เข้ามาซื้อขายในตลาดเงินไทยได้อย่างเสรีจนมีอิทธิพลกับตลาดทุนไทยเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันยังมี การสนับสนุนให้ลงทุนต่างประเทศ ซึ่งนอกจากไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินอ่อนลงได้จริงๆ แล้วยังทำให้ไม่สามารถรักษาเงินออมที่ไทยมีอยู่เพื่อพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ค่าเงินใช้เวลา 78 เดือน กระทบต่อดุลการค้า และ ดุลบัญชีเดินสะพัด และใช้เวลา 14 เดือนจึงจะกระทบต่อ Nominal GDP growth ซึ่งหมายความว่าหากยังไม่มีกลไกที่ทำให้ค่าเงินเข้าสู่ระดับที่เหมาะสม อาจในอีก 7-14 เดือนข้างหน้า ค่าเงินที่แข็งเกินควรจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  • รู้เท่าทันสงครามรูปแบบใหม่ "สงครามโจมตีค่าเงิน"

“ดอลลาร์เป็นมหาอำนาจของระบบการเงินระหว่างประเทศในอดีต ใช้กระสุน และเทคโนโลยีทางการทหารเพื่อขึ้นเป็นมหาอำนาจ วันนี้ใช้ระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจ และศักยภาพทางการทหารเพื่อค้ำจุนความเป็นมหาอำนาจ”

สิ่งที่น่ากังวล สำหรับประเทศไทยในตอนนี้คือ พฤติกรรมการโจมตีค่าเงินอย่างเสรีจากประเทศมหาอำนาจ หรือต่างชาติ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “สงครามแบบใหม่” ที่อาจทำให้ไทยตกอยู่ในสถานะผู้พ่ายสงครามการเงินคล้ายญี่ปุ่นช่วงหลังการประชุม “Plaza Accord (พลาซ่า แอคคอร์ด)” 

ณ เวลานั้นญี่ปุ่นขึ้นแท่นมหาอำนาจอันดับ 2 ผลพวงจากการกำหนดค่าเงินเยนที่ 360 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์ จนถึงปี ค.ศ.1971 ตามสนธิสัญญา Bretton Woods ซึ่งเป็นความใจดีของพี่ใหญ่อเมริกาต่อญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามโลก

ทว่า ในทศวรรษต่อมาสหรัฐอเมริกาเสียเปรียบด้านการค้ากับประเทศญี่ปุ่นมาก จึงมีการประชุมครั้งสำคัญในปี 1985 ที่เรียกว่า "พลาซ่า แอคคอร์ด" สงครามรูปแบบใหม่ที่มีการบังคับให้ญี่ปุ่นทำค่าเงินให้แข็งขึ้น จาก 260 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเหลือ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลาไม่กี่เดือน

จากค่าเงินที่แข็งเกินความเหมาะสมนี่เอง ทำให้ญี่ปุ่นเสียเปรียบการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ สูญเสียอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน (Flying Geese Theory : Kaname Akamtsu) การจ้างงานในประเทศลดลง ทำให้เศรษฐกิจแย่ลงนับแต่วันนั้น ฟื้นตัวแทบไม่ได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่น เป็นผู้แพ้ใน "สงครามค่าเงิน"

เมื่อหันมองกลับมาที่ "ประเทศไทย" หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่บริหารจัดการ "ค่าเงินบาท" ให้เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ อาจต้องตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายญี่ปุ่นในครั้งนั้น

ที่ผ่านมา "ตลาดเงินตลาดทุนไทยเสียอธิปไตยจากการเขียนกติกาของมหาอำนาจ" หลายด้าน อาทิ

- ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ดังที่เห็นได้ชัดเจนว่า ณ เวลานี้ เงินบาทแข็งค่าจนยากที่จะแข่งขันทางการค้า นักเก็งกำไรต่างชาติสามารถปั่นค่าเงินบาทได้ไม่ยากดังที่ปรากฏชัดเมื่อบ่ายวันที่ 30 ธันวาคม และต่อเนื่องถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562  สิ้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขื้นกว่า 1.3% ในขณะที่ไทยหยุดฉลองวันสิ้นปี

158458784736

- ด้าน Yield curve (เส้นอัตราผลตอบแทน) ต่างชาติเข้ามาเล่น Yield curve ของไทยได้โดยเสรี ทั้ง Cash (เงินสด) และ Derivatives (ตราสารอนุพันธ์) ทำให้เราเสียความสามารถในการบริหาร Yield curve ของตัวเอง สะท้อนจากปริมาณธุรกรรม 6 เดือนที่ผ่านมา ที่มีต่างชาติทำธุรกรรมอนุพันธ์ดอกเบี้ยรวม 650,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจไทยทำไว้เพื่อป้องกันความผันผวนของดอกเบี้ยเพียง 100,000 ล้านบาท ซึ่งต่างกันถึง 6 เท่า

เมื่อควบคุม Yield curve ไม่ได้ การกำหนดดอกเบี้ยนโยบายก็ย่อมมีปัญหา และมักจะกำหนดตามตลาดแทนที่จะเป็นผู้นำตลาด สุดท้ายผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยกลับเสียประโยชน์จากความผันผวนของเส้นผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนเกินไป

158458880677

 

“เงินออม จักรกล เพื่อพัฒนา และ กระสุนปกป้องชาติไทยจาก สงครามรูปแบบใหม่ สงครามที่โจมตีผ่านการค้าค่าเงินโดยเสรี” สมเกียรติ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WealthMagik

  • ยุทธวิธีที่ไทยควรต่อสู้ในสงครามค่าเงิน

ปัจจุบันประเทศไทยใช้เวลา 15 ปี สะสมเงินออมที่เกิดจากการค้าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ถึง 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นอาวุธที่สามารถใช้ในการขับเคลื่อนประเทศได้

โดยยุทธวิธีการใช้ “กระสุนเงินออม” ของชาติให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในสงครามยุคใหม่ ในรูปแบบของสงครามค่าเงินคือความแข็งแกร่งภายในประเทศ และรู้เท่าทันต่างชาติบางกลุ่มที่มีเป้าประสงค์เพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากการค้าค่าเงินโดยเสรี

แต่ก่อนที่จะยิงกระสุนเงินออมเพื่อต่อสู้ในสงครามค่าเงิน ไทยควรเร่งแก้ปัญหาค่าเงินบาท และโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสมก่อน

เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้คือ ประเทศไทยมีเงินออมสูง แต่มีอัตราส่วนการลงทุนที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยมาก อีกทั้งยังมี “ค่าเงิน” ที่แข็งเกินกว่าที่จะแข่งขันทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ไทยยังมีพลเมืองยากจนอยู่ ส่งผลต่อภาคการผลิตและการจ้างงาน ฯลฯ

ความต้องการ​ ณ เวลานี้ คือแก้ปัญหาโครงสร้าง นั่นคือการปรับมาตรการที่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างเสรีให้รัดกุม หรือมีการกรองให้เหมาะสมมากขึ้น

"วันนี้เรายังคงยึดติดแนวความคิดในยุคที่ประเทศขาดเงินออม ต้องจำยอมรับการเปิดเสรีให้ต่างชาติมีอิสระเสรีในการเข้ามาเล่นค่าเงินบาท ซึ่งต้องยอมรับว่ามหาอำนาจต่างชาติมีเม็ดเงินมากกว่าไทยมากมาย  มีประสบการณ์ทักษะชั้นเทพในการเล่นค่าเงิน สงครามการเงินในบริบทนี้ ถือว่าไทยเสียเปรียบและไม่มีทางชนะเลย"

การรบในสงครามการเงินยุคใหม่ ต้องศึกษาจุดอ่อนจุดแข็ง เข้าใจเป้าหมายของสงคราม และกำหนดยุทธการที่เราไม่เป็นลูกไล่ของข้าศึก

"หากเราไม่ได้ขาดเงินออม เงินส่วนเกินที่ไหลเข้ามาย่อมก่อผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ สร้างปัญหาในการกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน  วันนี้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินจากต่างประเทศแล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราจะเรียกร้องอธิปไตยการกำหนดค่าเงินคืนมา คนไทยที่ผูกอนาคตกับเศรษฐกิจไทยย่อมสามารถกำหนดค่าเงินของตนเองได้ถูกต้องกว่านักเก็งกำไรต่างชาติที่หวังแต่รายได้กำไรจากการค้าเงินตราที่เขาถือเป็นอาชีพ ถึงเวลาแล้วที่เราจะเคารพการกำหนดค่าเงินโดยคนไทยเพื่อคนไทยที่มีส่วนได้เสียกับความสำเร็จของประเทศ"

"เราอยู่ในฐานะและมีศักยภาพในการรักษาค่าเงินให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) ซึ่งควรอยู่ในระดับ 38.5 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ และ 35 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ไม่ใช่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอย่างที่เป็นอยู่" ปัญญา กล่าว.