‘ฟิทช์’ ห่วงน้ำมันดิ่ง กระทบ ‘กลุ่มปิโตรฯ’
“ฟิทช์” คงเรทติ้ง “ไทย” ที่ BBB+ แต่ปรับ “มุมมอง” เป็น “คงที่” จากเดิม “เชิงบวก” เหตุ “3 ปัจจัย” ถ่วงเศรษฐกิจ ประเมินธุรกิจขนาดใหญ่ยังแข็งแกร่งไร้ผลกระทบโดยตรง แต่ห่วง “กลุ่มน้ำมัน-ปิโตรฯ” อ่วม เจอสองเด้ง จากราคาน้ำมันทรุด
สถาบันจัดอันดับเครดิต “ฟิทช์เรตติ้ง” หรือ Fitch Rating เปิดเผยว่า ฟิทช์ฯได้ปรับลดมุมมองประเทศไทยเป็น “คงที่” (Stable) จาก “เชิงบวก” (Positive) ที่ถูกปรับขึ้นในครั้งก่อนเมื่อเดือน ก.ค.2562 และยังคงอันดับเครดิตเรตติ้งไว้ที่ระดับ BBB+ ด้วยเหตุผลหลัก 3 ปัจจัย คือ 1. ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยกดดันภาคการท่องเที่ยวโดยตรง 2. ความล่าช้าของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2563 ประมาณ4เดือนและ 3. ปัญหาการเมืองภายในประเทศ แต่ยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งทั้งด้านการเงินและการคลังของประเทศ จะช่วยหนุนเศรษฐกิจและการเงิน
ทั้งนี้ ฟิทช์ฯ ยังได้คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี2563 เติบโต 1% จากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นปีที่สองติดต่อกันของการเติบโตที่ชะลอตัวลง จากจีดีพีเติบโต 2.4% ในปี 2562 และเติบโต 4.2% ในปี 2561 และเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2557
อีกทั้งฟิทช์ คาดว่าธปท.จะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในปี 2563 เพื่อหนุนเศรษฐกิจในระยะสั้น จากปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1% และคาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทางด้านผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ฟิทช์ฯ พบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ฟิทช์ฯ จัดอันดับเครดิตเรตติ้ง ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่มีรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากในกรณีที่พบมีบริษัทเข้าข่ายกลุ่มดังกล่าว จะเข้าไปทบทวนสถานะทันที
อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตเรตติ้ง ซึ่งคาดว่าจะได้รับกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมี เพราะโควิด-19 ทำให้เกิดความต้องการที่ไม่คาดคิด (Demand shock) ประกอบกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ Oil shock ที่เกิดขึ้น ปัจจุบันฟิทช์ฯกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลราคาน้ำมันใหม่ เพื่อที่จะใช้ในการพิจารณาและทบทวนเครดิตเรตติ้งครั้งหน้าด้วย
อีกทั้งในระยะยาว คาดว่า อุตสาหกรรมกลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมี จะมีความเสี่ยงจากการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หรือจากการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน