‘7หุ้นใหญ่’ ราคาพุ่งชนซิลลิ่ง รับดัชนีรีบาวด์ '83 จุด'
"ดัชนีหุ้นไทย" พุ่งแรง 83.06 จุด ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ แถมมีแรงซื้อหุ้นคืนเพื่อปิดสถานะ ชอร์ต สถาบันในประเทศกลับมาซื้อเฉียด 8 พันล้าน หนุน "7 หุ้นใหญ่" ราคาวิ่งชนซิลลิ่งโบรกเกอร์คาดสัปดาห์หน้าดัชนีผันผวน
ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยวานนี้ (20 มี.ค.) ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงในช่วงท้ายตลาดถึง 89.37 จุด ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ก่อนมาปิดที่ระดับ1,127.24 จุด เพิ่มขึ้น 83.06 จุด หรือ7.95% มูลค่าซื้อขาย 93,030.96 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 7,923.90 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ2,183.40ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 8,901.22 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศขายสุทธิ 1,206.07 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในบรรดาหุ้น 20 อันดับแรกที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด พบว่ามีหุ้นถึง 7 บริษัทที่ราคาพุ่งขึ้นจนปิดที่ระดับเพดาน (Ceiling) ตามเกณฑ์ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ที่15% ประกอบด้วย บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ปิดที่ 20.10 บาท เพิ่มขึ้น 14.86%, บมจ.ปตท. (PTT) ปิดที่ 29.50 บาท เพิ่มขึ้น 14.56% ,บมจ.จีพีเอสซี (GPSC) ปิดที่ 61.50 บาท เพิ่มขึ้น 14.95% ,บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ปิดที่ 63.25 บาท เพิ่มขึ้น 15% ,บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ปิดที่ 27.75 บาท เพิ่มขึ้น 14.67% ,บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ปิดที่ 41 บาท เพิ่มขึ้น 14.69% และบมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ปิดที่ 48.50 บาท เพิ่มขึ้น 14.79%
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค ตลาดดาวโจนส์ฟิวเจอร์ส ตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากดอลลาร์อินเด็กซ์ปรับตัวลดลงแรง จึงทำให้ราคาสินทรัพย์ทุกประเภท ทั้งหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตราสารหนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง
รวมถึงมีแรงซื้อเข้ามาจากนักทุนสถาบันต่อเนื่องเพราะสภาพคล่องสูง จากก่อนหน้านี้มีการขายหุ้นออกต่อเนื่อง ประกอบกับมีเม็ดเงินสภาพคล่องใหม่ที่จะเข้ามา จากกองทุนที่มีการตั้งเป้าหมายเลิกกองเมื่อได้ระดับผลตอบแทนจุดหนึ่งตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้( ทริกเกอร์ฟันด์)และกองทุนรวมเพื่อการออม(SSF)วงเงินพิเศษที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งจะมีเม็ดเงินเข้ามาซื้อในเดือนหน้า
นอกจากนี้ เกิดจากนักลงทุนที่มีการชอร์ตหุ้นไว้ กลับมาซื้อคืนเพื่อปิดสถานะ(Cover Short)หลังดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ปรับเกณฑ์การขายชอร์ตเพื่อใช้เป็นการชั่วคราว ทำให้การชอร์ตเซลทำได้ยากขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้สมาชิกจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) จะเป็นการขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายเท่านั้น
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า คาดว่าจะผันผวนในกรอบ1,000-1,200จุด ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งหากปรับลดดอกเบี้ย0.25% ก็เป็นไผปตามคาด แต่หากปรับลง0.50% ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลล์)ปรับตัวลดลง ส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นน่าสนใจมากขึ้น หนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น ส่วนการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)นั้น ตลาดรับรู้ข่าวไปมากแล้ว แต่หากมีผู้ติดเชื้อในอัตราเร่งขึ้นมาก อาจมีผลกดดันดัชนีได้
นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวดัชนีตลาดหุ้นไทยเป็นผลจากความหวังต่อการเริ่มผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ของประเทศจีน ซึ่งในเบื้องต้นสามารถช่วยรักษาโรคโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับการซื้อเพื่อปิดสถานะชอร์ตที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ (Cover short) ช่วยหนุนให้มีแรงซื้อเข้ามาค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของแต่ละประเทศพยายามที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบ รวมถึงการพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด สำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยรวมทำให้ตลาดเริ่มกลับมามีความหวังอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ยังไม่ควรไล่ซื้อตาม หลังจากราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาแล้ว แม้จะเริ่มการผลิตยารักษาแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ได้หมดไป โอกาสที่จะเกิดความผันผวนรุนแรงก็ยังคงเป็นไปได้