ความหวังพยุงหุ้นเม.ย. บจ.ซื้อคืน-กอง SSF ทำงาน
3 เดือน ที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีการประกาศดึงเงินจากสภาพคล่องที่มีอยู่ และเป็นเงินที่ไม่กระทบการจ่ายหนี้ในระยะ 1 ปี มาใช้เพื่อพยุงหุ้นของตัวเอง ผ่านโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock ) รวมจำนวน 28 บริษัท เม็ดเงินรวมเกือบ 8 หมืนล้านบาท
ขณะที่เมื่อรวมกับบริษัทที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการซื้อหุ้นคืนที่ได้ประกาศไปเมื่อปลายปี 2562 แล้ว เม็ดเงินมีโอกาสสูงทะลุ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวตัวเลขบริษัทที่มากที่สุดของตลอดทั้งปีในช่วงที่ผ่านมา
ตามข้อมูล ย้อนไปช่วงปี 2558-2562 มีบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน มากที่สุด คือปี 2562 ที่ 15 บริษัท จากภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวผันผวนตลอดทั้งปีจนมาปิดที่ 1,579.84 จุด เพิ่มขึ้น 1.02 % แต่ตลอด 3 เดือนแรกปี 2563 ที่ผ่านมาตัวเลขบริษัทและเม็ดเงินทำสถิติสูงกว่าไปเรียบร้อยแล้ว
โดยเฉพาะเดือน เม.ย. มีบริษัทที่เตรียมเข้าทำการซื้อหุ้นคืนจำนวนมากที่สุดถึง 15 บริษัท มีเม็ดเงินที่ใช้สูงถึง 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทที่เข้าซื้อหุ้นคืนมูลค่ามากที่สุดคือ ธนาคาร ไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จำนวน 135.9 ล้านหุ้น มูลค่า 16,000 ล้านบาท เริ่ม20 เม.ย.-19 ต.ค. นี้
ขณะที่กลุ่มบริษัทซีพี ดำเนินการซื้อหุ้นคืนพร้อมกันในเริ่มเม.ย. นี้รวมเม็ดเงินถึง 24,500 ล้านบาท ประกอบไปด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จำนวน 400 ล้านหุ้น เม็ดเงิน 10,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 1 เม.ย – 30 ก.ย.
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL จำนวน 180 ล้านหุ้น เม็ดเงิน 13,000 ล้านบาท ระหว่าง 1 เม.ย.- 30 ก.ย. เช่นกัน และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่บอร์ดได้อนุมัติซื้อหุ้นคืนจำนวน 500 ล้านหุ้น เม็ดเงิน 1,500 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 14 เม.ย. -13 ต.ค.
เม็ดเงินที่เข้ามาพยุงราคาสร้างความคาดหวังว่าหุ้นดังกล่าวจะลดแรงขายลง จากปัจจัยลบที่ได้รับผลกระทบพิษโควิด-19 จนนำไปสู่การขายแบบแพนิกจนทำให้มูลค่าหุ้นปรับตัวลดลงเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงที่บริษัทประเมินเอาไว้
เดือนเม.ย. นี้ นักลงทุนยังมีความหวังว่ากองทุนออมหุ้นระยะยาว หรือ SSF (Super Savings Fund) รูปแบบใหม่ที่ปรับรูปแบบให้สามารถลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่า 65 %และเพิ่มการลดหย่อนภาษีเฉพาะผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อีก 2 แสนบาท รวมเป็น 4 แสนบาท จะเข้ามาประคองตลาดหุ้นไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม
จุดน่าสนใจของการออกกองทุนในครั้งนี้เป็นการรวมใจของกลุ่มสถาบันและกองทุนในไทยหลังจากสำนักงานก.ล.ต. อนุมัติขายกองทุนแล้ว 17 กองทุน ใน 13 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และยังอยู่ระหว่างการขออนุมติเพิ่มเติมอีก
รวมทั้งการจูงใจเพื่อลงทุนมีการนำเสนอการซื้อลงทุนขั้นต่ำ เปรียบเทียบกับการลงทุนในกองทุน RMF มีอายุการลงทุนระยะยาวเช่นเดียวกัน ต้องลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท ซึ่งกอง SSF เช่น บลจ. ไทยพาณิชย์ที่ออกรวดเดียว 3 กองทุน สามารถลงทุนขั้นต่ำเพียงแค่ 1 บาท
หรือ บลจ. บัวหลวงสามารถลงทุนขั้นต่ำที่ 500 บาท เน้นลงทุนในหุ้น 80 % ในกลุ่ม SET 100 เช่นเดียวกับ บลจ. กรุงศรี ,บลจ.กสิกรไทย ชูจุดเด่น กลยุทธ์ลงทุน แบบ Tactical Trading ในหุ้นขนาดใหญ่ พร้อมมีคืนเงิน (Cash Back )สูงสุด 400 บาทสำหรับผู้ที่ลงทุนในกอง SSF พิเศษ
จากจำนวนกองที่เตรียมจะเปิดขายหน่วยลงทุน ตามข้อมูลสมาคมบริษัทจัดการลงทุน มีมากถึง 72 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในรูปแบบปกติ 52 กองทุน และในรูปแบบพิเศษที่เพิ่มลดหย่อนภาษีอีก 2 แสนบาทอีก 20 กองทุน และซื้อเฉพาะช่วงเวลา 3 เดือนคือ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. ทั้งหมดจะเริ่มขายหน่วยลงทุน 1 เม.ย. นี้
ล้วนเป็นความหวังของนักลงทุนว่าจะสามารถช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสถานการณ์ระบาดโควิด-19 จะทวีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ภาคเศรษฐกิจไตรมาส 1 และ 2 ทรุดตัวอย่างรุนแรง จากภาธุรกิจที่ขาดรายได้ กระทบสภาพคล่อง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่คนไทยจะร่วมด้วยช่วยกันไม่เดินทาง เว้นระยะห่าง เพื่อให้ประเทศรอดไปด้วยกัน