'กองทัพเรือ' เร่งส่งอัยการตรวจสัญญาอู่ตะเภา ดันลงนาม 'บีบีเอส' เม.ย.นี้
คณะกรรมการคัดเลือกฯ เมืองการบิน เร่งส่งร่างสัญญาเสนออัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังเคาะโมเดลธุรกิจ “บีบีเอส” ผ่านกรอบกำหนด จ่อนัดเปิดซองข้อเสนอพิเศษ ลงนามสัญญาภายใน เม.ย.นี้ ระบุเอกชนเตรียมแหล่งเงินทุน-บุคลากร พร้อมเดินหน้าตอกเสาเข็ม
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยระบุว่า ขั้นตอนดำเนินการในปัจจุบัน สกพอ.ได้ส่งร่างสัญญาร่วมทุนโครงการดังกล่าวให้สำนักอัยการสูงสุดช่วยดำเนินการตรวจสอบแล้ว และหากอัยการเห็นชอบร่างสัญญา จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนของการเปิดซองข้อเสนอที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอพิเศษ และเจรจารายละเอียดกับเอกชน เบื้องต้นจึงยังมั่นใจว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือน เม.ย.นี้
“ตอนแรกวันนี้ (2 เม.ย.) คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีกำหนดที่จะเปิดซอง 4 ข้อเสนอพิเศษ แต่ก็ต้องยกเลิกออกไป เนื่องจากเล็งเห็นว่าควรจะนำร่างสัญญาที่เจรจารายละเอียดกับเอกชนแล้วเสร็จเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา และเสนอให้อัยการตรวจสอบอยู่ ขอให้อัยการตรวจสอบแล้วเสร็จก่อน เพื่อไม่ให้เกิดข้อท้วงติงถึงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดร่างสัญญา”
อย่างไรก็ดี การเลื่อนเปิดซอง 4 ข้อเสนอพิเศษออกไปนั้น ไม่เป็นผลต่อภาพรวมของการประมูล เนื่องจากข้อเสนอส่วนดังกล่าวไม่มีผลต่อการตัดสินการประมูลอยู่แล้ว เพราะเป็นเพียงข้อเสนอพิเศษที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเปิดซองเพื่อพิจารณาหรือไม่พิจารณาก็ได้ แต่เนื่องจากเอกชนมีการเสนอซอง 4 แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสของภาครัฐฯ ที่จะเปิดข้อเสนอเพื่อพิจารณาว่ามีประโยชน์ต่อรัฐหรือไม่
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า การส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบนั้น เป็นการยืนยันได้ว่าข้อเสนอของเอกชน คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ไม่ได้ขัดต่อเงื่อนไขของการคัดเลือก และเป็นไปตามข้อกำหนดให้เอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) โดยเบื้องต้นทราบว่าเอกชนได้เตรียมแหล่งเงินทุน บุคลากร และพร้อมดำเนินการก่อสร้างตามแผนแล้ว ขณะที่ สกพอ.ก็ช่วยเหลือในด้านของสิทธิประโยชนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และทางกองทัพเรือ (ทร.) เจ้าของพื้นที่ ได้เตรียมความพร้อมของที่ดินทั้งหมดแล้ว
“ก่อนหน้านี้เราเคยส่งร่างสัญญาไปให้อัยการตรวจจสอบแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาติดขัด ภายหลังจากที่ได้หารือในรายละเอียดกับเอกชน ในเรื่องของโมเดลธุรกิจ ก็ทำให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติม จึงต้องทำร่างสัญญาฉบับละเอียด และส่งให้ทางอัยการช่วยตรวจสอบอีกครั้ง หากเห็นชอบ เราก็มาเปิดซอง 4 ถ้าข้อเสนอเป็นประโยชน์ เจรจารายละเอียดกัน และเตรียมลงนามสัญญาได้”
ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐดีที่สุด โดยภายในกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบด้วย 1.บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ถือหุ้น 45% 2.บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 35% และ 3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20% โดยกลุ่มนี้มีพันธมิตรที่จะบริหารสนาม คือ สนามบินนานาชาตินาริตะ ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินอันดับใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีวงเงินการลงทุนราว 2.9 แสนล้านบาท โดยเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมลงทุนในโครงการ จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างและพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Center) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) และเขตประกอบการค้าเสรี (Cargo Village) และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งรับผิดชอบการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ประมาณ 6,500 ไร่ภายในโครงการฯ โดยมีระยะเวลาการร่วมลงทุน 50 ปี
ด้านนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจี เนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) เปิดเผยในฐานะผู้ร่วมทุนกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ระบุว่า บริษัทฯ ประเมินว่ามูลค่างานก่อสร้างของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนแรกจะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบีบีเอสมีการแบ่งระยะพัฒนาออกเป็นส่วน โดยส่วนแรกจะพัฒนาเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสาร 12 ล้านคน