‘บัณฑูร’ จี้แบงก์อุ้มภาคธุรกิจ ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด
“บัณฑูร” หวังทุกฝ่ายช่วยกันฝ่า “วิกฤติโควิด” ย้ำสิ่งแรกที่ต้องทำคือ หยุดการแพร่ระบาด เร่งแก้ปัญหาสุขภาพประชาชนเป็นอันดับแรก ขณะภาคธุรกิจยังเชื่อประคับประคองไปได้ ส่วนธุรกิจเล็กแบงก์ต้องเข้าไปดูแล มั่นใจเราผ่านวิกฤตินี้ไปได้แม้มีสะดุดบ้าง
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) KBANK กล่าวในการกระชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกสิกรไทยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” วานนี้(2เม.ย.) ว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ แตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” โดยสิ้นเชิง ซึ่งวิกฤติรอบนี้ไม่ได้เกิดจากการทำอะไรที่เกินตัวเหมือนตอนปี 2540 แต่เกิดจากสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และไม่มีตัวอย่างหรือรูปแบบวิธีการแก้ปัญหาให้เห็น ถือเป็นครั้งแรกที่โดนผลกระทบกันทุกคน และไม่รู้ว่าสถานการณ์เหล่านี้จะยืดเยื้อหรือจบลงอย่างไร
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหา สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ ดูแลและแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน ซึ่งถือเป็นด่านแรกที่ต้องทำก่อน ต้องลดปัญหาการรวมตัวหรือชุมนุม ซึ่งต้องควบคุมอย่างเข้มงวด ในฝั่งของผู้ประกอบการ เชื่อว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ยังสามารถประคับประคองตัวเองได้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีความอ่อนแอ ในกลุ่มนี้ธนาคารพาณิชย์ต้องเข้าไปประคับประคอง ต้องช่วยยืดหนี้ หรือมีมาตรการต่างๆ เข้าไปดูแล
ส่วนประชาชนในระดับฐานราก รัฐบาลก็ต้องเข้าไปช่วยผ่านมาตรการต่างๆ อย่างเต็มที่ เช่น การแจกเงินเพื่อดำรงชีพ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน และต้องช่วยกันลดการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ลง เพื่อให้ทุกคนในประเทศสามารถผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้
“ผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้ธุรกิจทำการค้าปกติไม่ได้ ท่องเที่ยวไม่ได้ เดินทางไม่ได้ ก็ต้องมีการสะดุดของกิจการ เพราะเงินไม่เข้า ดังนั้นผลกระทบนี้ถือเป็นครั้งแรกที่โดนกันทุกคน ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ตอนไหน จะหนักกว่าปี 2540 หรือไม่ ดังนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน ช่วยกันฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ คงมีเสียไปบ้าง แต่ในที่สุดหากโครงสร้างไม่เสียหาย เมื่อไวรัสหายไป คนก็จะกลับมาค้าขาย กลับมาเที่ยวได้เหมือนเดิม ดังนั้นเหล่านี้ก็ถือเป็นความท้าทายของแบงก์ ของมนุษย์ ที่จะต้องเจอ ตอนนี้เหนื่อยกันทุกคน และสิ่งที่ต้องช่วยมากขึ้น คือช่วยแพทย์ เพื่อให้สกัดโควิด-19ได้เต็มที่ ส่วนแบงก์ก็ต้องแบก และช่วยลูกหนี้กันไป เพราะทุกอย่างจะมาลงที่ระบบธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องช่วยๆกันไป ”