‘กสิกร’ปรับใหญ่แผนธุรกิจปี63 'ขัตติยา'ลั่นไม่ใช่จังหวะมุ่งโตสินเชื่อ
“ซีอีโอหญิง”กสิกรไทย เตรียมปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ ทบทวนเป้าหมายใหม่ทั้งกระดาน รับ “โควิด-19”สะเทือนธุรกิจ ย้ำไม่ใช่จังหวะมุ่งเติบโตด้านสินเชื่อ แต่ต้องเน้นช่วยเหลือลูกหนี้ให้ผ่านวิกฤติไปได้ ยันฐานะแบงก์แข็งแกร่ง แม้สถานการณ์หนักกว่าคาด
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)(KBANK) ปรับโครงสร้างผู้บริหารสูงสุดครั้งใหญ่ โดย “บัณฑูร ล่ำซำ” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง กรรมการ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) พร้อมตั้ง “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ขึ้นรักษาการประธานกรรมการ และตั้ง “ขัตติยา อินทรวิชัย” เป็นซีอีโอหญิงคนแรก
ขณะที่บอร์ดธนาคารประกาศมอบฉายา “ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus)” ให้แก่ “บัณฑูร ” แม้ฉายานี้ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการธนาคาร แต่เป็นการยกย่องให้เกียรติที่ได้ร่วมงานกับกสิกรมา 40 ปี
สำหรับที่มาที่ไปของการปรับโครงสร้างครั้งนี้ “บัณฑูร” มีนัดเปิดใจกับสื่อมวลชนผ่านช่องทางออนไลน์ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ หลังจากให้ “2 ผู้บริหารหญิงแกร่ง” ทั้ง “กอบกาญจน์ ”และ “ขัตติยา” แถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงทิศทางธุรกิจของกสิกรไทยในวันที่ 7 เม.ย.
ก่อนจะถึงวันนั้น “ขัตติยา” ได้เล่าถึงแผนธุรกิจของธนาคาร ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างทบทวนและปรับเป้าหมายการเติบโตธุรกิจด้านต่างๆของธนาคารลงคาดว่าเป้าหมายใหม่จะเสร็จสิ้นในเดือนมิ.ย.นี้
“การทบทวนเป้าหมายครั้งนี้ หลักๆมาจากโควิด-19 ที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง กระทบกับธุรกิจและลูกค้าค่อนข้างมาก ดังนั้นสินเชื่อที่คาดว่าจะเติบโตราว 4-6% อาจไม่ได้ตามนั้น เพราะภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เชื่อว่าไม่ใช่เป็นจังหวะในการเน้นเติบโตสินเชื่อ แต่เป็นปีที่ธนาคารต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารทุกกลุ่มมากกว่า”
เช่นเดียวกันกับเป้าหมายอื่นๆ ที่ต้องทบทวนเป้าหมายทั้งหมด จากเดิมที่ตั้งเป้าสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 178,000 ล้านบาท เติบโต 30% จากปีก่อน รวมถึงอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ 3.1-3.3% ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยคาดลดลง 5-17%
ขณะเดียวกันเชื่อว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าคาด เชื่อว่าสถานะการดำเนินงานของธุรกิจในอนาคตยังแข็งแกร่ง สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝาก(LTD)ของแบงก์อยู่ในระดับสูงที่ 96% ซึ่งอยู่ในกรอบ 95-97%ตามเป้าหมาย ขณะการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (LCR)สูงถึง 198% เพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 16% เหล่านี้สะท้อนว่าแบงก์มีฐานะที่แข็งแกร่ง เพียงพอรองรับเหตุกาณ์ต่างๆในอนาคต
“ขัตติยา”บอกว่า เป้าหมายธุรกิจเดิมอยู่บนสมมุติฐานจีดีพีปีนี้ขยายตัว 0.5% แต่วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดว่าจีดีพีจะติดลบกว่า 5% ก็ต้องเอาตัวเลขเหล่านี้ มาประเมินภาพรวมของแบงก์ใหม่ เพื่อทำแผนกลยทุธ์การเติบโตใหม่ทั้งหมด ตอนนี้มองว่าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะสินเชื่อเพราะเราไม่ได้เน้นการเติบโต แต่จะเป็นปีที่เราจะเน้นการช่วยลูกค้า แม้ว่าบางธุรกิจจะมีความต้องการสภาพคล่องอยู่ก็ตาม ส่วนเอ็นพีแอลหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปีนี้เชื่อว่าไม่น่ากังวล เพรามีการพักหนี้ ก็ไม่ได้ทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น
สำหรับแผนงานด้านต่างประเทศของกสิกรไทยนั้น “ พิพิธ เอนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ กสิกรไทย บอกว่า ธนาคารยังเดินหน้าลงทุน น่าจะมีความชัดเจนและมีข่าวดีเรื่องการลงทุนในเมียนมาเร็วๆนี้ ซึ่งการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศของกสิกรไทย หลักๆยังเน้นการลงทุนน้อยๆ เพื่อให้เปิดโอกาสให้แบงก์มีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ให้แบงก์มีเครือข่ายในการทำธุรกิจ และมีความรู้ในตลาดนั้นๆมากขึ้น มากกว่าการเข้าไปลงทุนเพื่อซื้อกิจการ
ขณะเดียวกันการลงทุนของแบงก์ จะเน้นการใช้ “ดิจิทัล” เพื่อเข้าไปเจาะธุรกิจในต่างประเคเทศ ในโลกการเงินการธนาคารสมัยใหม่ เพื่อให้การเข้าถึงการให้บริการดีขึ้น ทำให้ต้นทุนของแบงก์ต่ำลง
“กลยุทธ์การลงทุนของเราในต่างประเทศ เน้นการลงทุนชิ้นเล็กๆ ลงทุนน้อย ไม่ได้ต้องการเข้าไปซื้อกิจการ เพื่อให้เรามีเครือข่ายลูกค้าในการทำธุรกิจ กลยุทธ์เราชัดเจน คือขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน หรือเออีซีบวก3ต่อเนื่อง เรายังคงทำตามแผนอยู่ เราอาจจะเข้าไปเปิดสาขาแค่ 1-2สาขา และที่เหลือจะใช้ดิจิทัล เข้ามาช่วยในการเจาะตลาดได้เร็วขึ้น แถมต้นทุนต่ำกว่า ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนต่างประเทศ วันนี้เราดำเนินการอยู่ แต่ก็มีกระบวนการต่างๆที่ต้องขออนุญาตของทางการในประเทศที่เราไปลงทุนด้วย”