สยามฯเร่งวาง 'บิซิเนสโมเดล' รับ 'นิวนอร์มอล ไลฟ์สไตล์'
ผ่าแผนรับมือ "สยามพิวรรธน์" ในมือชฎาทิพ จูตระกูล ในวันที่วิกฤติโควิด-19 สาหัสกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 และการปรับตัวคงต้องหนักหน่วงมากขึ้น เมื่อผู้บริโภคเกิดนิวนอร์มอล ไลฟ์สไตล์ ที่จะเข้ามาปฏิวัติวงการการค้าไทย
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ของประเทศไทยและทั่วโลกในรอบหลายทศวรรษ โดยส่งสัญญาณชาวโลกกำลังเผชิญหน้ามหันตภัยร้ายแรง นับตั้งแต่ “อู่ฮั่น” ประกาศปิดเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อ 23 ม.ค. พร้อมๆ กับไวรัสโควิดที่ลุกลามขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสถ้วนหน้า จนถึงนาทีนี้ยังไม่มีใครสามารถประเมินได้ว่า “วิกฤติโควิด” จะสิ้นลงเมื่อไร และอย่างไร นั่นหมายความว่า “แต่ละวัน” ผลกระทบจะยิ่งเพิ่มขึ้นมหาศาล!
เป็นอีกหนึ่งวิกฤติครั้งใหญ่บนเส้นทางธุรกิจของทุนไทยเก่าแก่ ก่อตั้งและดำเนินงานมาครบ 61 ปี ในปี 2563 นี้สำหรับ “กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์” ซึ่งที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ ผ่านห้วงวิกฤตการณ์ของประเทศไทยมาหลายครั้งและหลากหลายรูปแบบสามารถนำพาธุรกิจ รวมทั้ง “พันธมิตรคู่ค้า” รอดพ้นมาได้ด้วยดีทุกครั้ง วิกฤติโควิดคราวนี้ก็เช่นกัน
“ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของ “ไอคอนสยาม” กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” สะท้อนถึงวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ กับ “ไครซิสต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 “สเกล” ของวิกฤติและผลกระทบต่างกันมาก!
ย้อนวิกฤติปี 2540 ไทยถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนักจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ จนทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศหมดหน้าตัก ภายหลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หรือสมัยนั้นเรียกว่า ลดค่าเงิน ทำให้ “เงินบาท” อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง จาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 40-50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้สถาบันการเงินและภาคธุรกิจต้องประสบกับปัญหาหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ นำไปสู่การปิด 58 ไฟแนนซ์ ธนาคารพาณิชย์ กิจการหลายแห่งล้มละลาย ฉุดเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง รัฐบาลไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ในห้วงเวลานั้นประเทศอื่นๆ ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ และกองทุนไอเอ็มเอฟ เข้ามาช่วยเราได้ มีต่างชาติเข้ามาซื้อหนี้เสีย แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤติโลก! กระทบสาหัสทั่วถึงกันไม่มีใครช่วยใครได้
พิษต้มยำกุ้ง! ครั้งก่อน ไม่กระทบภาคท่องเที่ยว สถานการณ์ “ลดค่าเงินบาท” กลับเป็นผลดีกับประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องจากนั้นเป็นต้นมา กระทั่งปีนี้ที่ต้องเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่เรียกว่าเป็นการ "หยุดโลก” ทุกคนทั่วทั้งโลกหยุดเดินทาง!
นี่คือประเด็นและปัญหาสำคัญ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า กว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศไทยจะฟื้นตัว น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 18-24 เดือน
อย่างไรก็ดี กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ เตรียมแผนรับมือ “ระยะสั้น” ต้องประคับประคองร้านค้าผู้เช่าภายในศูนย์การค้าให้มากที่สุด เพื่อให้ผ่านจุดนี้ไปด้วยกันให้ได้ และเข้าสู่ออมนิแชนแนล ในการช่วยสนับสนุนร้านค้าขายสินค้า ซึ่งเป็นแนวทางที่สยามพิวรรธน์เริ่มต้นไว้แล้ว ในครั้งนี้ได้คิกออฟเต็มรูปแบบ
สำหรับแผนธุรกิจระยะยาวที่ ชฎาทิพ ย้ำว่า จะต้องเห็นผลสำเร็จไม่เกิน 12 เดือนจากนี้! ท่ามกลางพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปมาก สยามพิวรรธน์ จะเปิดตัว บิสสิเนสโมเดลใหม่ ที่ Embrace “New Normal Lifestyle” ของคนหลังวิกฤติโควิด-19 ที่จะมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดี และมีการใช้ชีวิตที่ Sustainable มากขึ้น
สิ่งที่เตรียมการไว้แล้วนั้น ถือเป็น Retail Revolution ที่จะสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการค้าปลีกอีกครั้งหนึ่ง
ห้วงเวลาวิกฤตินี้ สยามพิวรรธน์ ยังถือโอกาสทำ “Organizational Transformation” เพื่อเข้าสู่องค์กรนวัตกรรมเต็มรูปแบบ เป็น “Lean Organization” ที่ใช้ Agile หรือ กระบวนการที่จะช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านเอกสารลง และมุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารกันในทีมให้มากขึ้นทั้งมีกลยุทธ์ความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับตัวที่รวดเร็ว ซึ่งจะเป็น New Mantra ของกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์
ในฐานะนักบริหารแถวหน้า ชฎาทิพ มองมาตรการขับเคลื่อนของภาครัฐในการรับมือวิกฤติโควิด เห็นว่า ดีแล้ว! ซึ่งในช่วงหลังมีการปรับการสื่อสารได้ดีขึ้นมาก อย่างไรก็ดี การบังคับใช้มาตรการต้องเด็ดขาด! เพื่อส่วนรวม
โดยเฉพาะแนวทางสำคัญ เช่น ควรระงับการรับคนเดินทางเข้าประเทศอย่างจริงจัง ล็อกดาวน์ 1 เดือนเป็นอย่างน้อย จัดตั้ง “ทีมเศรษฐกิจพิเศษ” ศึกษาผลกระทบในระยะยาว เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ที่จะรับมือ
รัฐบาลต้องทำทุกวิถีทางเพื่อลดการแพร่ระบาดให้ได้ผลเร็วที่สุด เวลาที่เสียไปทุกวันส่งผลกระทบมหาศาล เชื่อว่านักธุรกิจทุกคนยอมเจ็บกันตอนนี้เพื่อให้วิกฤตินี้ยุติโดยเร็วที่สุด