‘ร้านแลกเงิน’ ยอดทรุด 95% ‘ซุปเปอร์ริช’ ยอมรับพิษโควิดทำสาหัส

‘ร้านแลกเงิน’ ยอดทรุด 95% ‘ซุปเปอร์ริช’ ยอมรับพิษโควิดทำสาหัส

ร้านแลกเงิน” กระอักพิษโควิด หลังนักท่องเที่ยวหาย กดดันยอดแลกเปลี่ยนเงินทรุดกว่า 95% “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” ยอมรับอาการสาหัส ชี้ไม่เคยเจอวิกฤติที่หนักขนาดนี้มาก่อน เผยเตรียมปรับตัวครั้งใหญ่รุกสู่โลกออนไลน์ พร้อมเปิด “มาร์เก็ตเพลส”

ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” เพราะทำให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก ส่งผลโดยตรงต่อการรับแลกเปลี่ยนเงินเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการยอมรับว่าไตรมาสแรกหนักแล้ว แต่ไตรมาสสองจะหนักยิ่งกว่า

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซุปเปอร์ริช เคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์(1965) จำกัด หรือ "ซุปเปอร์ริชสีส้ม" กล่าวว่า ธุรกิจแลกเงินถือว่าได้รับผลกระทบเต็มๆ จากวิกฤติโควิด โดยไตรมาสแรกหดตัวราว 10% แต่ปัจจุบันยอดแลกเงินลดลงไปแล้วถึง 95% ซึ่งผลกระทบเริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค. หลังจากปิดสนามบิน ดังนั้นผลกระทบในไตรมาสสองจะหนักกว่าช่วงไตรมาสแรก

“ตอนนี้ยอดแลกเงินของเราเฉลี่ยวันละ 20 ล้านบาท หรือเดือนละ 440 ล้านบาท คาดการณ์ทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ 5,280 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงราว 95% จากปีก่อนมียอดแลกเงิน เดือนละ9,000ล้านบาท หรือ 108,000 ล้านบาทต่อปี”

สำหรับแนวโน้มช่วงที่เหลือปีนี้ ยังประเมินยาก แต่คงสาหัส เพราะไม่เคยเจอวิกฤติแบบนี้มาก่อน จึงต้องติดตามสถานการณ์ทุกสัปดาห์ ส่วนยอดการแลกเงินที่ยังพอมีอยู่บ้างในเวลานี้ ส่วนใหญ่มาจากการค้าชายแดน

นายปิยะ กล่าวว่า หลังวิกฤติโควิดบริษัทคงต้องปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยจะรุกสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลให้มากและเร็วขึ้น ซึ่งบริษัทจะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การชำระเงิน โอนเงิน และบัตรท่องเที่ยวแลกเงิน รวมทั้งจะสร้างธุรกิจแลกเงินแบบใหม่ในลักษณะการเปิด มาร์เก็ตเพลส เช่น เปิดให้คนสามารถนำเงินดิจิทัล หรือ โทเคน พอยต์ของสถาบันการเงินที่เป็นคู่ค้าและเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง อย่างประเป๋าหลุยส์หรือนาฬิกาโรเล็กซ์ มาแลกเป็นสกุลเงินต่างๆ ได้ โดยที่เราจะเป็นแพลตฟอร์มกลางในการแลกเปลี่ยน

"เชื่อว่าหลังโควิดผ่านพ้นไป ธุรกิจแลกเงินคงต้องผันตัวเองไปทำธุรกิจใหม่ในรูปแบบดิจิทัลให้เร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป และหลังเหตุการณ์นี้น่าจะมีคนที่จนลงเยอะ ต้องการเงินเพิ่ม เราก็จะเปิดแพลตฟอร์ตกลางให้เขาสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้"

สำหรับแผนรับมือผลกระทบจากโควิดในปัจจุบัน เขากล่าวว่า บริษัทได้ใช้วิธีปรับลดเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ผู้อำนวยการขึ้นไปลง 5% มีผลสิ้นเดือนมี.ค. จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนพนักงานระดับล่างยังดูแลไม่ให้เสียผลประโยชน์ และระหว่างนี้ก็ใช้วิธีพัฒนาทักษะเพื่อรองรับธุรกิจใหม่ ซึ่งการให้พนักงานออกจะเป็นทางเลือกสุดท้าย

“ชั่วโมงนี้ทุกธุรกิจโดนผลกระทบหมด จริงๆแล้วบรรดาร้านแลกเงินทุกร้านอยู่ในระบบธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ได้อยู่ในระบบธุรกิจสถาบันการเงิน เพียงแต่มี ธปท. มาค่อยกำกับดูแล ดังนั้นวิกฤติโควิดรอบนี้ที่กระทบท่องเที่ยวเราก็ได้ผลกระทบโดยตรง100% เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่ไม่ได้ถูกสั่งปิด ซึ่งร้านแลกเงินเปิดไว้ แต่ไม่มีคนมาแลกเงิน เราต้องบริหารต้นทุน ต้องปิดบางสาขา แต่ก็มีคนโทรไปร้องเรียนแบงก์ชาติเหมือนกัน ตอนนี้ธุรกิจร้านแลกเงินเหมือนจมูกแค่ปริ่มน้ำ บางทีก็หายใจเอาน้ำเข้าไปบ้าง สำหรับเรายังคิดว่าไหวอยู่ ถ้าสนามบินกลับมาเปิด ด้วยชื่อเสียงของเรา ลูกค้าจะมาหาเราก่อน แต่เราไม่อยากให้ร้านแลกเงินเล็กๆ ต้องปิด”

นายอัศวิน พละพงศ์พาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการด้านการเงินระหว่างประเทศทั้งรับโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินตรา ภายใต้แบรนด์ “ดี มันนี่” กล่าวว่า ธุรกิจการโอนเงินในปัจจุบันยังดำเนินการได้ปกติ แต่การแลกเงินได้รับผลกระทบเต็มๆ ซึ่งอัตราแลกเงินในปัจจุบันลดลงไปแล้ว 95% เนื่องจากธุรกรรมส่วนใหญ่ต้องทำที่สาขา ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.ให้ทำ e-kyc หรือการรับ-ส่งเอกสารจากบ้านหรือสำนักงาน 

อย่างไรก็ตามในอนาคตเชื่อว่าธุรกิจการแลกเปลี่ยนเงินจะเปลี่ยนจากการทำธุรกรรมจากสาขาเป็นดิจิทัลมากขึ้น และเป็นเส้นทางไประบบไร้เงินสด (cashless) และบัตรที่รองรับหลายสกุลเงิน เช่น วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด หรือ wallet ต่างๆทั่วโลก ทำให้บริษัทต้องเตรียมความพร้อมเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจหลังวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป โดยการสร้างแพลตฟอร์ม Neo Banking ของตัวเองชื่อว่า Grand Central ที่ช่วยเปิดทางของเราสู่ธุรกิจและพันธมิตรใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน การโอนเงิน pre-paid wallet และธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(e-commerece)ข้ามพรมแดน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภคหลักๆแล้วคือการปูทางเข้าสู่ระบบที่ไม่ใช้เงินสด (cashless) และระบบดิจิตอลก่อน