กทย.ลั่นมาเลฯเปิดด่าน ส่งออกยางทั้งระบบจะดีเร็วๆนี้
กยท. เผยส่งออกยางพาราดี หลังมาเลเซียเปิดด่านขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ คาดอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบเริ่มขับเคลื่อน เตรียมกลับสู่สถานการณ์ปกติเร็วๆ นี้
นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศมาเลเซียเปิดด่านขนส่งสินค้าข้ามชายแดน ซึ่งเป็นการส่งสินค้าผ่านทางรถไฟ ทั้งด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดทางประเทศมาเลเซียได้อนุญาตให้ดำเนินการขนส่งสินค้าผ่านชายแดนได้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว โดยเริ่มขนส่งได้ทุกวันตั้งแต่เวลา08.00น. – 16.00น.
ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกยางพาราของประเทศไทยที่จะเพิ่มมากขึ้น ผลมาจากแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมยางพาราเริ่มขับเคลื่อน หลังประเทศจีนเริ่มเปิดให้มีการดำเนินการอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แล้วบางส่วน เพราะสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัส (COVID 19) ในประเทศจีนเริ่มดีขึ้น
“ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่สถานการณ์อุตสาหกรรมยางพาราเริ่มกลับมาดีขึ้น เพราะจีนถือเป็นตลาดหลักในการใช้ยางพารา อีกทั้งความต้องการใช้ยางพาราของโลกในขณะนี้ค่อนข้างสูง เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางพาราเช่นถุงยางอนามัย ถุงมือยาง ฯลฯ ขาดแคลนเนื่องจากการหยุดชะงักของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากCOVID 19เชื่อว่า หากภาคอุตสาหกรรมยางพารากลับสู่สถานการณ์ปกติ ทั่วโลกจะมีความต้องการใช้ยางเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน“
ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณการใช้ในปีนี้คาดว่าต่ำกว่าผลผลิต ประมาณ 5.8 แสนตัน ถือว่าเป็นปริมาณที่ไม่มากนัก และไม่น่าจะมีผลต่อระดับราคาโดยรวม ส่วนปริมาณที่มากขึ้นนั้นเป็นเพราะยางพาราที่ปลูกใหม่เริ่มกรีดได้ ประกอบกับ มีประเทศที่ปลูกยางพารามากขึ้นจากเดิมที่มีเพียง 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพิ่มเป็น เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา บางส่วนในจีน เป็นต้น
เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางให้อยู่ในที่เหมาะสม กยท. สนับสนุนให้เกษตรกรโค่นยางเก่าเพื่อปลูกใหม่ หรือปลูกพืชอื่นทดแทน ปีละ 4 แสนไร่ โดยจะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1.6 หมื่นบาท ในขณะที่สนับสนุนให้ใช้ยางในประเทศมากขึ้น ซึ่งในเร็วๆนี้ กยท. ร่วมกับสถาบันเกษตรกรจะก่อสร้างโรงงานถุงมือยาง งบลงทุน 500 ล้านบาท
รวมทั้งสร้างศูนย์กลางยางพาราของโลก ขึ้นที่ จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ 2 หมื่นไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างว่าจ้าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน สิ้นปีนี้
สำหรับวันที่ 21 เม.ย. ราคายางแผ่นรมควันปรับตัวตามความต้องการของผู้ซื้อภายในประเทศ และปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดกรีด ราคากลางเปิดตลาด ประจำวันนี้อยู่ที่ 40.17 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) โดยปิดตลาดสูงสุด ณ ตลาดกลางนครศรีธรรมราช 40.09 บาทต่อกก. ส่วนตลาดกลางสงขลา ราคาอยู่ที่ 40.09 บาทต่อกก. และตลาดกลางสุราษฎร์ธานี และ 39.87 บาทต่อกก.
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิค ราคายางในเดือนเม.ย.นี้อาจได้รับผลกระทบจาก ความไม่แน่นอนของการระบาดที่รวดเร็วของโรคโควิด 19 ที่ยังไม่สามารถรับมือได้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ สหรัฐฯ อินเดีย และยูโรโซน ที่จะกระต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ในกรณีที่มาเลเซียเปิดด่านปาดังเบซาร์ เพื่อการขนส่งสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ ประเทศ จะส่งผลให้การส่งออกยางของไทยเริ่มเคลื่อนไหว
ประกอบกับ เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ มาตรการทางการเงินและการคลังจากหน่วยงานภาครัฐ ปริมาณยางในสต็อกปรับตัวลดลงอยู่ในระดับต่ำ และปริมาณยางเข้าสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากอยู่ ในช่วงปิดกรีด จึงคาดว่าราคายางในเดือนเม.ย.นี้ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ