อสังหาฯเจ้าสัวเจริญ พลิกเกมรับนิวนอร์มอล ไลฟ์สไตล์
นิวนอร์มอล เปลี่ยนเกมอสังหาฯ"โกลเด้นแลนด์"ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เร่งพลิกเกมรักษาฐานลูกค้าพร้อมช่วงชิงดีมานด์ใหม่จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้าตัวจริง
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชัดเจนแล้วว่า เมื่อการระบาดคลี่คลาย จะทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการใส่ใจด้านสุขอนามัย มีระยะห่างทางสังคม กลายเป็น “New Normal” หรือ ความปกติใหม่ ที่ภาคธุรกิจต้องเร่งพลิกเกมเพื่อรักษาและช่วงชิงฐานผู้บริโภคภายใต้พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปให้ได้มากที่สุด หนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลง คือ อสังหาริมทรัพย์
“ภวรัญชน์ อุดมศิริ” กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาโครงการทาวน์โฮม และโครงการบ้านเดี่ยวบริษัท โกลเด้นแลนด์ เรสซิเดนซ์ จำกัด บริษัทในเครือบมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯในเครือไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (ทีซีซี กรุ๊ป) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า
วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้จะเกิด New Normal ขึ้นกับธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งไม่เคยคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ โดยครั้งสุดท้ายที่เกิดโรคระบาด “ไข้หวัดสเปน” เกิดขึ้นมา100 ปี ที่แล้ว มีคนเสียชีวิต 30-40 ล้านคนทั่วโลก
การมาของโควิด จะเปลี่ยนเกม (Game Changer) ธุรกิจอสังหาฯ ทำให้มุมมอง ความคิดต่างๆของคนจากที่เคยรู้สึกกับที่อยู่อาศัยแบบเดิม เริ่มเปลี่ยนไปเพราะเริ่มเห็น “Pain Point” จากที่ไม่เคยสังเกตเริ่มรู้สึก อาทิ ปัญหาที่จอดรถในคอนโดมิเนียมที่มีจำกัดไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ยิ่งในภาวะที่ทุกคนต้องอยู่บ้านเพื่อชาติเขาเริ่มมองเห็นปัญหา
จากเดิมที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อคอนโด นับตั้งแต่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ทำให้ตลาดคอนโดช่วงนั้นที่ใกล้ถึงขาลงกลับเงยหัวขึ้นมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ในครั้งนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลุ่มคนที่อยู่คอนโดได้สัมผัสกับชีวิตจริง จากเดิมที่อยู่คอนโดเพื่อกลับมานอนอย่างเดียวเช้าออกไปทำงาน ไม่มีปัญหาแต่พอต้องมาอยู่คอนโดเกือบ 24 ชั่วโมง และอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาบนพื้นที่จำกัด ทำให้คนเริ่มรู้สึกได้ว่าคอนโด ‘ไม่ใช่’ คำตอบสุดท้าย เท่ากับการมีทาวน์โฮม หรือบ้านเดี่ยว ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่า
ภวรัญชน์ ยังให้ข้อมูลว่า แม้ยอดเยี่ยมชมโครงการจะ‘ลดลง’แต่อัตราการจองกลับดีขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้อัตราการจองแทบไม่ได้ลดลง สวนทางกับตัวเลขการเยี่ยมชมโครงการ จากปกติโครงการหนึ่งมีลูกค้าแวะเยี่ยมชมสัปดาห์ละ 20 ราย จอง5 ราย แต่ปัจจุบันแวะเยี่ยมชมสัปดาห์ละ 10 ราย แต่จอง 4 ราย
ทำให้ประเมินได้ว่า กลุ่มลูกค้าที่เข้ามานั้นเป็นลูกค้า “ตัวจริง” ไม่ใช่เข้าดูโครงการเล่นๆเหมือนสมัยก่อนกินข้าวเสร็จจากห้างแวะดูโครงการเพราะตอนนี้อยู่บ้านดีกว่าปลอดภัย และมีความต้องการจริง ที่สำคัญเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพมีกำลังซื้อเพราะช่วงเวลานี้ทุกคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ก้อนใหญ่
“สถานการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้ลูกค้าตัวจริงเสียงจริง ไม่จำเป็นต้องลดราคาเยอะเพื่อดึงดูด เพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อ กลับเป็นผลดีกับโกลเด้นแลนด์ซึ่งกลุ่มลูกค้าจากคอนโดที่เข้ามาในเซกเมนต์ทาวน์โฮม เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ยิ่งในโซนที่อยู่ใกล้ๆเมือง หรือในกลุ่มคอนโดลักชัวรี่ หันมาดูบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่เริ่มรู้สึกว่า ไปอยู่บ้านเดี่ยวดีกว่า ซึ่งเป็นไปได้หมดทุกกลุ่ม”
สำหรับกลุ่มโกลเด้นแลนด์ได้เตรียมแผนรับ “ดีมานด์” ที่เข้ามาด้วยการเตรียมสต็อกไว้ จากที่คิดว่าจะเบรกโครงการเหมือนรายอื่นแต่จากสัญญาณดังกล่าว ต้องมองสเต็ปถัดไปว่า ทำเลที่ไหนที่ยังดี เพราะเวลาที่กำลังซื้อกลับขึ้นมาจะได้รับมือทัน ฉะนั้นต้องมองให้ออกว่า ตรงไหนมีโอกาสเตรียมรอไว้ ต้องรีบสร้างโอกาส เพื่อรอโอกาสการเติบโตใหม่ ขณะเดียวกันก็เลือกชะลอหรือหยุดโครงการในทำเลที่การแข่งขันสูง
ภวรัญชน์ ยังกล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติและความไม่แน่นอนเช่นนี้ สูตรสำเร็จทางไฟแนนซ์เชียลของทุกคนคงหนีไม่พ้นการรักษา “กระแสเงินสด”ให้ดี เพื่อทำธุรกิจต่อไปได้ พร้อมกันนี้ บริษัทจะต้องปรับแผนใหม่อีกครั้งในช่วงกลางปีเพื่อรองรับการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่วนแผนการตลาดในปีนี้ บริษัทจะเปิดตัวโครงการทั้งหมด 19 โครงการ แบ่งเป็น ทาวน์โฮม 10โครงการ ในกรุงเทพฯ และ2 โครงการในต่างจังหวัด (เชียงใหม่ /ชลบุรี)รวมเป็น 12 โครงการ บ้านแฝด 6โครงการ และบ้านเดี่ยว 1โครงการ
“นิวนอร์มอล” ที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจอสังหาฯ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ที่เป็นผลมาจากโควิดจึงเป็นความท้าทายใหม่ที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอด
“โควิด ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจอสังหาฯ ข้อมูล ตัวเลข ที่ผ่านมาอาจนำมาใช้ในการคาดการณ์ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์เป็น (paradigm shift)ใหม่เหมือนเวลาซื้อกองทุน ที่จะมีหมายเหตุข้างล่างว่า ผลประกอบการที่เกิดขึ้นในอดีตไม่สามารถเป็นเครื่องยืนยันผลประกอบการในอนาคต อันนี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นวันนี้ ”