‘เซ็นเทล’ชี้เทรนด์M&Aช่วงโควิด ทุนจีนลุยช้อปโรงแรม-อสังหาฯ
ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวช่วงโรคโควิด-19 ยังระบาด แม้อัตราการติดเชื้อเริ่มชะลอบ่งบอกสัญญาณที่ดี แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน หากประเทศไหนควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้และมียารักษาดี เศรษฐกิจก็จะฟื้นก่อนด้วย “Domestic Demand” หรือการใช้จ่ายภายในประเทศนั้นๆ
นอกจากนี้จะเห็นภาพของนักธุรกิจและนักลงทุนบางส่วนที่มองเห็นโอกาสว่าช่วงนี้ต้องพยายาม “หาซื้อของถูก” ด้วย!
รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็นเทล เล่าว่า ขณะนี้นักธุรกิจเริ่มสนใจดีลการลงทุนควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) โดยเริ่มมีบางบริษัทจากประเทศจีนมาศึกษาเพื่อซื้อกิจการในไทยแล้ว
“อย่างโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในไทยตอนนี้ก็ประกาศขายกันมากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ เช่น แถวสุขุมวิท รวมถึงภูเก็ต สมุย และพัทยา ตามลิสต์ที่นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ส่งมาให้ดู โดยหลายแห่งประกาศขายก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อยู่แล้ว แต่พอมีโควิดก็เลยกลายเป็นต้องการขายมากขึ้น เพราะเจ้าของโรงแรมคงทนไม่ไหว อัตราเข้าพักเป็นศูนย์ อาจจะไม่อยากแบกรับแล้ว ก็เลยเปิดตัวว่าพร้อมขายโรงแรมเต็มที่”
ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ของทั่วโลกจะถูกหมด ทำให้ช่วงนี้ทุกคนต่างให้ความสำคัญกับเงินสดเป็นหลัก เข้าสูตร Cash is King มากขึ้น แต่การขายโรงแรมก็อาจจะไม่ได้ง่าย เพราะว่าคนที่มีเงิน เขาก็จ้องจะซื้อของถูก ต่อราคาแล้วต่อราคาอีก เป็นไปตามอำนาจต่อรองของผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย
ขณะที่ในช่วงวิกฤตินี้ ธุรกิจโรงแรมเองก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอด และมุ่งให้บริการแบบดิลิเวอรี่มากขึ้น อย่างห้องอาหารในโรงแรม ในเมื่อให้บริการเสิร์ฟบนโต๊ะภายในร้านไม่ได้ ก็ต้องสร้างสรรค์เมนูอาหาร และตั้งราคาไม่แพงนักในราคาเริ่มต้นที่ 80 บาทขึ้นไป เพื่อรองรับความต้องการซื้ออาหารในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ตรงนี้ก็จะได้รับความนิยมมากขึ้น
นอกจากนี้ธุรกิจอาหารในเครือ CRG (Central Restaurant Group) ของบริษัทฯ พบว่ายอดการสั่งซื้อแบบดิลิเวอรี่ผ่านร้าน KFC เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เติบโตถึง 25% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ช่วยชดเชยยอดขายตามหน้าร้านซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้าซึ่งถูกปิดให้บริการได้ในระดับหนึ่ง
“พวกดิลิเวอรี่แพลตฟอร์มจะเติบโตดี งบสิ้นปีของแกร็บ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า และลาล่ามูฟน่าจะดูดีขึ้น และเป็นตัวผลักดันให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน กลายเป็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งดิสรัปทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้บริการดิลิเวอรี่มากยิ่งขึ้น”
และทำให้ธุรกิจที่มียอดขายจากขนาดธุรกิจ (Size) จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการขาย อย่างในช่วงที่รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ก็มีสีสันการขายของธุรกิจอาหารที่เป็นกิมมิคน่าสนใจ เช่น การขายสุกี้หรือปิ้งย่างแถมหม้อกระทะไฟฟ้า ระบบพวกนี้จะพยายามเสิร์ฟลูกค้าถึงบ้านมากขึ้น และเมื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แม้คนจะอยากออกเดินทางไปทานข้าวนอกบ้าน แต่ก็จะมีบางส่วนติดใจสั่งอาหารมาทานที่บ้านมากขึ้น
รณชิต เล่าเพิ่มเติมว่าจากประสบการณ์ในธุรกิจโรงแรม หลังจากเกิดเหตุสึนามิและโรคซาร์ส 6-9 เดือน ถ้ากลับสู่ภาวะปกติเมื่อไร คนจะเดินทางทะลัก เพราะนักท่องเที่ยวอัดอั้น อยากออกไปเที่ยวมานาน ถ้ามีข่าวดีเรื่องวัคซีนและควบคุมโรคได้ กระแสการเดินทางก็จะเริ่มต้นด้วยตลาดในประเทศ ก่อนขยายไปยังตลาดต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤติโควิด-19 บริษัทฯยังคงเดินแผนรีโนเวตโรงแรม 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ สมุย ซึ่งรีแบรนด์ใหม่เป็น เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย ให้ทันตามกำหนดเวลา ขณะที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ภายใต้การร่วมทุนระหว่างเซ็นทารา เจแปน กับบริษัทก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ 2 รายในประเทศญี่ปุ่น ได้ทำพิธีเปิดหน้าดิน (Groundbreaking) เมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนโครงการพัฒนาโรงแรมอื่นๆ หากในประเทศนั้นๆ มีการล็อคดาวน์ ก็ไม่ได้เร่งรัดการก่อสร้าง
ส่วนแผนการทำตลาด บริษัทฯได้จัดเตรียมแผนเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการจองห้องพักล่วงหน้า เช่น จองห้องพักวันนี้ แต่สามารถมาพักหลังจบโรคโควิด-19 ได้ พร้อมติดต่อกับสายการบินและบริษัทนำเที่ยวต่างๆ เพื่อทำแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบ All Inclusive ร่วมกันเหมือนในอดีตที่เคยเจอวิกฤติมา รวมถึงการจัดแกรนด์เซลล์ลดราคาครั้งใหญ่ในช่วงใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ