กอช. ยัน 'เงินเยียวยา 5,000 บาท' เพิ่มนักศึกษา 'พาร์ทไทม์' เตรียมลงทะเบียน
กอช. เผย ครม.เห็นชอบขยายผู้ได้รับ "เงินเยียวยา 5,000 บาท" ให้กับสมาชิก กอช.ที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้างทั่วไป ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขาย และนักเรียน นักศึกษา ที่ทำงาน "พาร์ทไทม์" ลงทะเบียนได้
ความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน ล่าสุดขยายกลุ่มผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเพิ่มเติมแล้ว โดยกลุ่มนักศึกษาที่ทำงาน พาร์ทไทม์ ก็สามารถได้รับสิมธิด้วย
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบขยายจำนวนผู้ได้รับเงินเยียวยา มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ของกระทรวงการคลัง ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น
โดยได้ประกาศถึงสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่เป็น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้างทั่วไป ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขาย และนักเรียน นักศึกษาที่ทำงานพาร์ทไทม์ โดยผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน ซึ่งผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของกระทรวงการคลังกำหนดจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาชีพดังกล่าวลงทะเบียนรับเงินได้ที่เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เมื่อผ่านการตรวจคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด จะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
สำหรับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรที่เคยขึ้นทะเบียนแล้ว สามารถตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรได้ที่เว็บไซต์ farmer.doae.go.th ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกร ให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านทางเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานในวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2563
โดยผู้ได้รับเงินเยียวยาจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับในมาตรการช่วยเหลือ “เราไม่ทิ้งกัน” อย่าง คนทำงานพาร์ทไทม์ที่เพิ่งขยายโอกาสเพิ่มขึ้นมา ระบบจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลตามขั้นตอนต่อไป เมื่อข้อมูลคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข ระบบจะดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยารายละ 5,000 บาทต่อเดือน จำนวน 3 เดือน (เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563)