กกร.ชี้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด ห่วงส่งออกติดลบหนัก10%

กกร.ชี้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด  ห่วงส่งออกติดลบหนัก10%

กกร.ลดเป้าเศรษฐกิจปี 2563 คาดจีดีพี ลบ 3% ถึงลบ 5% ด้านส่งออกทรุดหนัก ลบ 10% เผยเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่ต้องใช้เวลาอีกในการฟื้นตัว

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาหลายหลายหน่วยงานทยอยลดประมาณการณ์ และล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งปรเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.ในฐานะประธาน กกร. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจใหม่ บนพื้นฐานโควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดในไทยใหม่ โดยคาดว่า จีดีพีของไทยในปีนี้ จะติดลบ 3 ถึงติดลบ 5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.0%

ทั้งนี้ เป็นประมาณการณ์ที่ดีกว่าที่องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินไว้ว่าจะติดลบ 6.7% เนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ มีมาตรการเยียวยาที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และได้อัดฉีดงบประมาณในการฟื้นฟูถึง 20% ของจีดีพี ส่วนการส่งออกในปี 2563 อาจจะติดลบ 5% ถึงลบ 10% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในกรอบ 0% ถึงลบ 1.5%

ในขณะที่การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2563 ไทยมีการส่งออกขยายตัว 0.91% มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 62,672 ล้านดอลลาร์ มีการนำเข้ามูลค่า 58,738 ล้านดอลลาร์ หดตัว 1.92% ส่งผลให้การค้าไทยในไตรมาสแรกเกินดุลอยู่ที่ 3,934 ล้านดอลลาร์

ขณะนี้ กกร.มองว่าเศรษฐกิจไทยได้มาถึงจุดต่ำสุดแล้ว และภายหลังที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจค่อยๆ ดีขึ้น แต่จะไม่ฟื้นตัวรวดเร็วแบบตัว V แต่จะเป็นแบบตัว U ที่มีฐานกว้าง คือ จะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่าไทยจะมีการติดโรคโควิด-19 ลดลงมาก แต่ในต่างประเทศยังคงระบาดรุนแรง ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติรวมทั้งในปีนี้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย

นอกจากนี้ กกร.ยังติดตามข้อเสนอของเอกชนรวม 34 มาตรการ ที่ได้เสนอต่อภาครัฐแล้ว ทั้งด้านภาษี การเงิน แรงงาน สาธารณูปโภค เพื่อเยี่ยวยาและฟื้นฟูภาคธุรกิจจากภัยโควิด-19 ขณะนี้ภาครัฐเห็นชอบตามข้อเสนอกกร. แล้ว 11 มาตรการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 11 มาตรการ 

สำหรับมาตรการที่เหลืออีก 12 มาตรการ เช่น มาตรการปรับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายทุกประเภทเป็นอัตราเดียวคือ 1% เฉพาะปี 2563 มาตรการให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่เอสเอ็มอี 3 ปีทุกธุรกิจ (ปี 2563-65) ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี 2563 คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใช้มิเตอร์ขนาด 50 แอมป์ 

ทั้งนี้ กกร.จะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร่งรัดดำเนินการต่อไป นอกจากนี้เพื่อช่วยเกษตรของไทย กกร.จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนและผู้บริโภคช่วยซื้อสินค้าเกษตร ได้แก่ ผัก ผลไม้

แบงก์หนุนซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอี

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมธนาคารไทย มีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อจากผลกระทบโควิด-19 โดยปัจจุบันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลนด์) ของ ธปท.วงเงิน 5 แสนล้านบาท เริ่มปล่อยให้เอสเอ็มอีแล้ว แต่อาจมีลูกค้าบางรายไม่เข้าข่ายได้สินเชื่อดังกล่าวหรือมีหลักประกันไม่พอ 

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีสามารถขอใช้บริการจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ ขณะที่ประชาชนทั่วไปนั้นสถาบันการเงินต่างมีมาตรการบรรเทาผลกระทบ เช่น การยกเว้นเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน แต่อัตราดอกเบี้ยยังเดินอยู่ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้าว่าต้องการความช่วยเหลือรูปแบบใด อาจเลือกเว้นเงินต้นหรือดอกเบี้ยก็ได้

เอกชนหนุนทำงานที่บ้านต่อ

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายและมีการคลายล็อกจากรัฐบาล ดังนั้นภาคธุรกิจจะให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือ เวิร์ก ฟอร์ม โฮม ลดลงเหลือ 50% จากจำนวนพนักงานที่ทำงานที่บ้าน โดยจะคงมาตรการนี้เป็นเวลา 1 เดือน อีกเพื่อลดการแออัดของประชาชนในสถานที่ต่างๆ และต้องการติดตามผลการคลายล็อกของรัฐบาลด้วย 

นอกจากนี้คาดว่าช่วงกลางเดือนนี้รัฐบาลโดยศบค.จะผ่อนปรนให้ร้านค้าขนาดใหญ่หรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น ห้างสรรพสินค้า กลับมาเปิดดำเนินได้ แต่ก็ต้องอยู่ที่ตัวเลขการติดเชื้อช่วงคลายล็อกดาวน์หลังจากนี้ โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.จะพิจารณาความชัดเจนเรื่องนี้อีกครั้ง