กทท.เปิดยื่นซอง2หมื่นล้าน งานก่อสร้างในทะเล 'แหลมฉบัง'
กทท. ติดเครื่องประมูลสร้างท่าเรือแหลมฉบัง 3 วงเงินกว่า 2.84 หมื่นล้าน ลุยงานถมทะเล และก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ถนนและระบบสาธารณูปโภค พร้อมรองรับเอกชนลุยลงทุนพีพีพี หลังโควิด -19 ฉุดขั้นตอนเจรจาผลตอบแทน “จีพีซี” ยังไม่แล้วเสร็จ
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยระบุว่า ขณะนี้ กทท.ได้เริ่มต้นพัฒนาโครงการดังกล่าว เปิดประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล
และส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค เพื่อเตรียมความพร้อมงานโครงสร้างพื้นฐาน และงานระบบต่างๆ รองรับการพัฒนาของเอกชน ในโครงการร่วมทุน (พีพีพี) พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในอนาคต
“ตอนนี้ กทท.ได้เริ่มต้นประมูลงานก่อสร้างไปก่อนแล้ว ในส่วนที่ กทท.รับผิดชอบ พวกงานถมทะเล งานสัมปทานสร้างลานอาคาร และยังเหลืองานที่ต้องเตรียมก่อสร้างประเภทงานถนนสะพาน รางรถไฟ และเครื่องมือต่างๆ”
รายงานข่าวจาก กทท.ระบุว่า ขณะนี้ กทท.ได้ออกประกาศประกวดราคางานโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนที่ภาครัฐรับผิดชอบ ในขณะนี้รวมจำนวน 2 สัญญา วงเงินประมาณ 28,481 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น
1.งานประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเล ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 21,979 ล้านบาท โดย กทท.มีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอราคาไปแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2563 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณารายละเอียด
ทั้งนี้ เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้างและเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ กทท.เชื่อถือ มีกำหนดผลงานดังกล่าวมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 3.5 พันล้านบาท มูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 สัญญา
โดยผลงานก่อสร้างทางทะเล ต้องประกอบด้วย ผลงานขุดลอก และ/หรือ งานถมทะเล โดยสัญญาที่นำมาอ้างอิงเป็นผลงานจะต้องมีผงลานขุดลอก และ/หรือ งานถมทะเลที่มีปริมาณงานในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 14 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น
2.งานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 2) งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธรณูปโภค วงเงิน 6,502 ล้านบาท ขณะนี้ กทท.อยู่ระหว่างประกาศร่างทีโออาร์ โดยคาดว่าจะกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือน พ.ค. – มิ.ย.นี้
สำหรับขอบเขตของงานก่อสร้างในสัญญาดังกล่าว ประกอบไปด้วย งานระบบถนน งานอาคาร งานท่าเรือชายฝั่ง และงานท่าเรือบริการ โดย กทท.มีกำหนดให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีคุณสมบัติ อาทิ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ กทท.เชื่อถือ
ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างท่าเทียบเรือทางทะเล ไม่รวมเครื่องมือยกขน สัญญาเดียวมูลค่าก่อสร้างไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท และทั้งหมดต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กรณีผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ สมาชิกทุกรายที่รวมตัวกันเป็นผู้ร่วมค้านั้น ต้องเป็นนิติบุคคล และนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือมากกว่าหนึ่งรายรวมกัน ต้องมีสัดส่วนหุ้นมากกว่า 50%
ทั้งนี้ ขอบเขตของโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อยู่บนพื้นที่ 2,846 ไร่ อยู่ติดกับท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 โดยโครงการฯ มีความลึก -18.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งในส่วนของท่าเรือ F ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ F1 และ F2 มีความยาวหน้าท่ารวม 2 พันเมตร และความกว้างโดยประมาณ 550 เมตร กทท.มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2566
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าจัดประมูลพีพีพีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนที่ กทท.เจรจาข้อเสนอผลตอบแทนให้ภาครัฐกับกิจการร่วมค้าจีพีซีที่ชนะการประมูล คือ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทในกลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited)
ทั้งนี้ภายหลังศาลปกครองสูงสุด มีตำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ยกฟ้องกรณีเอกชนฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ โดย กทท.ได้เดินหน้าเจรจากับกลุ่มจีพีซีทันที แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากติดช่วงโควิด -19
นอกจากนี้ การลงทุนในส่วนของเอกชนภายหลังบรรลุข้อตกลงการเจรจาแล้วเสร็จ กลุ่มจีพีซี จะต้องรับผิดชอบสร้างลานจอด วางตู้สินค้า วางเครนยกตู้สินค้า ตลอดจนวางระบบการบริหารจัดการท่าเทียบเรือ และเป็นผู้ชำระค่าภาษีอากร ภาษีโรงเรือน จัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินโครงการ รวมไปถึงต้องถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีในการพัฒนา ให้แก่ กทท.ภายใต้ขอบเขตสัมปทานเวลา 35 ปี
สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการให้ความสำคัญในการรองรับยุทธศาสตร์อีอีซี ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ.2558 - 2565 มีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมขั้นสูงด้วยเครือข่ายคมนาคมครบวงจรด้านระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเพิ่ม 7 ล้าน ทีอียูต่อปี หากเมื่อโครงการฯ ดังกล่าว เปิดให้บริการครบทุกท่าจะมีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ประมาณปีละ 18 ล้าน ทีอียูและจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ