ขาใหญ่ '4หุ้นอาหาร' 'ฐานะทรุด' วิ่งแก้เกมวุ่น

ขาใหญ่ '4หุ้นอาหาร' 'ฐานะทรุด' วิ่งแก้เกมวุ่น

'4หุ้นร้านอาหาร' เผชิญท้าทายครั้งใหญ่ ! หลังคำสั่งรัฐปิดห้างฯ ชั่วคราว สกัดการระบาดโควิด-19 ฉุดฐานะ 3 เดือนแรกทรุด เหล่า 'ขาใหญ่' วิ่งแก้เกมพัลวัน ปรับโมเดลรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เร่งคืนชีพครึ่งปีหลัง

ทันที..! ที่คำสั่งปิดห้างสรรพสินค้าของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ 'ธุรกิจร้านอาหาร' ต้องเปิดแบบซื้อกลับบ้าน หรือบริการ Delivery เท่านั้น เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เปรียบเสมือนเป็นการ 'ล็อกดาวน์' ธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ ที่มีหน้าร้านประจำ หรือ จำนวนสาขา ที่ต้องพึ่งพิงพื้นที่เช่าในห้างสรรพสินค้า

ในจำนวนนั้นมี 'หุ้น 4 แบรนด์ดัง' ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รวมอยู่ด้วย นั่นคือ บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้ 'แบรนด์ ZEN Musha' ของ 'สุทธิเดช จิราธิวัฒน์' , บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป หรือ M เจ้าของร้านสุกี้ภายใต้ 'แบรนด์ MK' ร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ ของ 'ฤทธิ์ ธีระโกเมน'

บมจ. อาฟเตอร์ ยู หรือ AU เจ้าของร้านขนมหวานภายใต้ 'แบรนด์ อาฟเตอร์ ยู' ของ 'กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ' และ บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท หรือ SNP เจ้าของร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ภายใต้ 'แบรนด์ S&P'

ปัจจัยลบดังกล่าว กดดันให้ 'ฐานะการเงิน' ในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2563 มีกำไรสุทธิลดลง ไปจนถึงพลิกขาดทุน โดย 'หุ้น ZEN' ขาดทุนสุทธิ 44.22 ล้านบาท ลดลง 237.7% ด้านรายได้ 643.66 ล้านบาท ลดลง 11.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 'หุ้น M' กำไรสุทธิ 340.18 ล้านบาท ลดลง 52.1% รายได้ 3,876.78 ล้านบาท ลดลง 12.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

'หุ้น AU' กำไรสุทธิ 13.30 ล้านบาท ลดลง 78.3% รายได้ 220.02 ล้านบาท ลดลง 24% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 'หุ้น SNP' ขาดทุนสุทธิ 26.46 ล้านบาท ลดลง 136.10% รายได้ 1,464 ล้านบาท ลดลง 15.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปี 2563-ปัจจุบัน โดย หุ้น ZEN มีมาร์เก็ตแคป เมื่อต้นปีอยู่ที่ 4,380.00 ล้านบาท เหลือ 2,385.00 ล้านบาท หุ้น M มีมาร์เก็ตแคปเมื่อต้นปีอยู่ที่ 64,921.91 ล้านบาท เหลือ 47,655.44 ล้านบาท หุ้น AU มีมาร์เก็ตแคปเมื่อต้นปีอยู่ที่ 8,156.24 ล้านบาท เหลือ 6,892.02 ล้านบาท และ หุ้น SNP มีมาร์เก็ตแคปเมื่อต้นปีอยู่ที่ 7,699.41 ล้านบาท เหลือ 5,149.29 ล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 18 พ.ค.2563)

ผลงานที่เริ่มต้นไม่สวยได้กดดันให้ราคา หุ้น ZEN หุ้น M และ หุ้น AU ตั้งแต่ต้นปีจนถึง ปัจจุบัน (18 พ.ค.) ปรับลงค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ขยับตัวลดลงเฉลี่ย 45.55% , 26.60% และ 15.50% ตามลำดับ

159015138383

ตารางผลประกอบการหุ้นร้านอาหาร 

สอดคล้องกับความเห็นของ 'บุญยง ตันสกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN ยอมรับว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2563 จะเป็น 'จุดต่ำสุด' ของปีนี้ เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปิดร้านอาหารในเครือนานกว่า 2 เดือน ซึ่งรายได้ทั้งปีมีโอกาส 'ลดลง' จากปีก่อนที่มีรายได้ 3,144 ล้านบาท

แม้ว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง แต่ยังไม่มีนัยต่อรายได้ของบริษัท เนื่องจากต้องจัดระยะห่างภายในร้านตามนโยบายรัฐบาล ทำให้สูญรายได้กว่า 60% ต่อเดือน

ขณะที่บริษัทยังมีต้นทุนพนักงาน และ ซัพพลายเออร์ รวมกันกว่า 30 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากนี้ยังคงจ่ายเงินเดือนพนักงาน 20 สาขาที่ถูกสั่งปิดบริการชั่วคราว ขณะเดียวกันยังลดค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ 50% ต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ไปจนกว่าสถานการณ์ปกติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าครึ่งปีหลังสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น และคาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติในไตรมาส 1 ปี 2564 เป็นต้นไป โดยบริษัทยังตั้งเป้าหมายเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้น 70 สาขา ซึ่งในแผนธุรกิจจะเน้นเปิดร้านที่กระจายตัวอยู่นอกห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดเล็ก มุ่งการขายออนไลน์ และซื้อกลับบ้านเป็นหลัก โดยตั้งใจให้หนึ่งร้านสามารถผสมกับหลายแบรนด์ในเครือได้ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนค่าเช่าร้าน

'คาดว่ายอดขายแบบดิลิเวอรี่ในปี 2563 มีโอกาสทะลุ 500 ล้านบาท จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง'

นอกจากนี้ หวังว่ารัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น เว้นการจ่ายภาษีอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อผู้ประกอบการจะได้นำเงินส่วนดังกล่าวจ่ายเป็นเงินเดือนพนักงาน และจะทำให้ธุรกิจยังสามารถก้าวต่อไปได้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ณ ปัจจุบัน ZEN มีกระแสเงินสดอยู่ประมาณ 80-100 ล้านบาท เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจไปอีก 2 เดือน แต่เมื่อเข้าสู่เดือน ก.ค.2563 บริษัทจำเป็นต้องกู้เงินประมาณ 40 ล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์ เพื่อใช้สำรองและประคองธุรกิจในช่วงโควิด-19 และจำเป็นต้องลดการจ้างพนักงานประเภทรายวัน (พาร์ทไทม์) บางส่วน เพื่อรักษาพนักงานประจำไว้ แต่ยังเชื่อว่าสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปีจะดีขึ้น และจะกลับสู่สภาวะปกติในช่วงต้นปีหน้า

159015144673

บุญยง ตันสกุล

ด้าน บมจ. อาฟเตอร์ ยู จำกัด หรือ AU ระบุว่า ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 'ลดลงหนัก' สาเหตุหลักมาจากรายได้ร้านขนมหวานที่ลดลง ตามจำนวนคนเดินห้างสรรพสินค้าที่ลดลงและการบริโภคภาคครัวเรือนที่อ่อนตัวลงจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการประกาศมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยงเช่น ห้างสรรพสินค้า ในช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับทิศทางในช่วงที่เหลือของปี 2563 เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่เติบโตลดลง และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ซึ่งนิยมการสั่งอาหารจากช่องทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นบริษัทได้เปลี่ยนแผนการขยายสาขาเล็กน้อยจากในตอนแรกที่วางแผนเปิด 6 สาขาใหม่ในปี 2563 ซึ่งแผนใหม่ยังจะเปิด 2-3 สาขาที่ได้ลงทุนสร้างเรียบร้อยแล้วต่อไป หากจำนวนคนเดินห้างสรรพสินค้ากลับเท่าสู่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม สาขาเป้าหมายที่เหลือยังอยู่ในช่วงต่อรอง เลื่อนไปถึงต้นปีหน้า หรือเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายรวมทั้ง การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อปรับตัวใน 'ยุค New Normal' หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะกินระยะเวลานาน และธุรกิจบริการส่งอาหารอยู่ใน 'ช่วงขาขึ้น' ทีมวิจัยและพัฒนาของบริษัท โดยบริษัทได้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่สามารถช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการขนส่ง ในปัจจุบันทีมวิจัยและพัฒนาให้ความสำคัญกับสินค้าแช่แข็งเพราะง่ายต่อการขนส่ง

นอกจากนี้ สำหรับสินค้าประเภทซื้อกลับบ้าน บริษัทคาดการณ์ว่าอาจเปลี่ยนขนาดหน่วยบริโภคของเมนูที่ทานในร้านให้เล็กลงจากกระแสการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเมนูขนาดใหญ่ที่ทานร่วมกันคาดว่าน่าจะได้รับความสนใจลดลงด้วย

'แม่ทัพ ต.สุวรรณ' กรรมการผู้จัดการ บมจ. อาฟเตอร์ ยู หรือ AU เคยกล่าวว่า บริษัทเตรียมปรับเป้ารายได้ปี 2563 ในช่วงกลางปีนี้ จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 15% เนื่องจากขณะนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลทำให้ 'กำลังซื้อลดลง' ซึ่งเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะสาขาที่ปกติมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก เช่น สาขาราชประสงค์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีปัจจัยลบดังกล่าวเกิดขึ้น บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งลดการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการขยายสาขา ยกเว้นสาขาที่มีกำหนดเปิดแน่นอนแล้วในปีนี้จำนวน 6 สาขา โดยจะหันมาดำเนินการในรูปแบบ Pop Up Store มากขึ้น อีกทั้งยังชะลอการซื้อวัตถุดิบ และต่อรองค่าเช่าของพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น

ขณะที่ 'สุดารัตน์ พัทธ์วิวัฒน์ศิริ' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบัญชีและการเงิน บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป หรือ M ระบุว่า สาเหตุที่รายได้และกำไรสุทธิลดลงมาจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยซึ่งมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มกระจายในวงกว้าง ทั้งการประกาศสั่งปิดห้างสรรพสินค้าของกรุงเทพมหานคร เมื่อ 21 มี.ค.2563 รวมถึงร้านอาหารที่ให้เปิดจำหน่ายเฉพาะการซื้อกลับบ้าน จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้รายได้ จากการขายและบริการลดลงอย่างมาก

159015154724

'กำธร ศิลาอ่อน' กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิตและการเงิน บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท หรือ SNP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมี ขาดทุนสุทธิ 26.5 ล้านบาท ลดลง 136.10% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ 'รายได้' อยู่ที่ 1,464 ล้านบาท ลดลง 15.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ส่งผลต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

รวมถึงร้านอาหารปิดชั่วคราวตามการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล หากพิจารณาจากผลประกอบการของร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ภายในประเทศและต่างประเทศที่บริษัทเปิดดำเนินการอยู่รวมทั้งสิ้น 538 สาขา พบว่ายอดขายต่อร้านเดิม (Same Store Sales) ของร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ภายใต้ 'แบรนด์ S&P' ในประเทศ จำนวน 501 สาขา ลดลง 15.4% ส่วนการเติบโตของยอดขายต่อร้านเดิมของร้านอาหารในต่างประเทศ จำนวน 18 สาขา ลดลง 35.1% สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศต่างๆ เช่นเดียวกัน

'ดังนั้น บริษัทกำลังเร่งปรับตัวสู่บรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป'

+++++++++++++++++++++++++++

โบรกฯ ฟันธง ไตรมาส 2 ทรุดต่อ..!!

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า 'หุ้นในกลุ่มร้านอาหาร' จะถูกกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 หนักสุด เนื่องจากลูกค้ามีความกังวลที่จะรับประทานอาหารในร้าน สอดคล้องกับผลประกอบการของธุรกิจร้านอาหารและขนมหวานที่มีกำไรสุทธิลดลงมากกว่า 50% และคาดว่าในไตรมาส 2 ปี 2563 จะมีกำไรสุทธิลดลงมากว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดห้างสรรพสินค้านานกว่า 2 เดือน

อย่าง หุ้น ZEN คาดว่าไตรมาส 2 ปี 2563 จะขาดทุนหนัก กว่าไตรมาสแรก และอาจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ประเมินผลประกอบการของ ZEN จะถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 แต่การฟื้นตัวน่าจะต้องอาศัยเวลา เนื่องจาก SSSG ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ต่ำกว่าประมาณการที่ -9.0% อย่างมาก ดังนั้นจึงเชื่อว่า SSSG น่าจะ “ติดลบอย่างหนัก” ในไตรมาส 2 นี้ ภายใต้สมมติฐานว่าร้านอาหารจะกลับมาเปิดบริการเต็มรูปแบบได้ในเดือนมิ.ย. 2563

อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบเต็มจากการปิดห้างสรรพสินค้าเนื่องจากได้รับผลกระทบเต็มที่จากรายได้การนั่งทานที่ร้าน หายไปทั้งหมดราว 45 วันเป็นอย่างน้อย (1 เม.ย.-16 พ.ค.) ขณะที่ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบราว 10 วันเท่านั้น

แต่บริษัทมีรายได้จากการขายแบบ Delivery ที่เติบโต '3เท่าตัว' จากระดับปกติเป็นราว 50 ล้านบาทต่อเดือนมาช่วยได้มากขึ้น และผลของการลดต้นทุนทั้งค่าเช่า และพนักงานคาดวาจะเห็นผลมากขึ้นในไตรมาส 2 นี้ บริษัทคาดว่าจากแผนลดต้นทุนจะทำให้ค่าเช่าลดลงไปได้มากกว่า 50% ส่วนต้นทุนพนักงานลดลงราว 30– 35% และคาดว่าผลขาดทุนรายเดือนในไตรมาส 2 นี้ จะขาดทุนน้อยกว่าเดือน มี.ค. แต่ขาดทุนทุกเดือนตลอดไตรมาส 2 ปี 2563 เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 ขาดทุนในเดือน มี.ค. เดือนเดียว

แม้ว่าในเดือน มิ.ย. อาจมีการกลับมาเปิดบริการนั่งทานที่ร้านได้เต็มเดือน แต่เชื่อว่าการกลับมาของรายได้จากการนั่งทานที่ร้านยังต้องใช้เวลา และการให้บริการที่ไม่สะดวกสบายเหมือนเดิมจากมาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้น ทำให้บริการ Delivery หรือนั่งทานร้านอาหาร Street food นอกห้างสรรพสินค้ายังตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่า

'ภาพทั้งปี 2563 จึงมีโอกาสพลิกเป็นมีกำไรได้ยาก ขณะที่ปี 2564 คาดฟื้นมามีกำไรอีกครั้ง แต่ยังจำกัด และยังไม่กลับมาที่ระดับปกติ เพราะเราเชื่อว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป และการท่องเที่ยวยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ จึงต้องติดตามสถานการณ์และกลยุทธ์บริษัทอีกครั้ง'