‘สแตนชาร์ด’ หวั่น โควิด-19 ระบาดระลอก2 ฉุดจีดีพี ติดลบแรง 10%
สแตนชาร์ด หวั่นกรณีเลวร้ายสุด หากเกิดโควิด-19 ระบาดรอบสอง จับตากนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.25% ในไตรมาส 3 ปีนี้ หวั่นค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง คาดสิ้นปีแตะ31บาท
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)กล่าวว่า หากประเมินภาพรวม ธนาคารประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าเบื้องต้น จีดีพีจะติดลบอยู่ที่ราว 5% แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเป็นไปได้ตามสถานการณ์ต่างๆ
กรณีแรก หากประเทศไทยสามารถมีวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ภายในครึ่งปีหลัง ปีนี้ คาดมีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยติดลบน้อยกว่าที่คาด มาอยู่ที่ติดลบ 3%
กรณีที่สอง หากมีการทดสอบวัคซีนในก.ค. นี้ และคาดต้นปี จะมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมา คาดมีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยติดลบที่ระดับ 5%
กรณีที่สาม ถือว่าเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือหากเกิดการระบาดระลอกสองของโควิด-19 คาดมีโอกาสที่ฉุดจีดีพีไทยปีนี้ติดลบได้ถึงระดับ 10%
ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 คคคาดว่า มีโอกาสเห็นจีดีพีติดลบถึงระดับ 13% และยังไม่มั่นใจว่าถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือไม่ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาพชะลอตัว คาดว่า มีโอกาสเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. ปรับลดดอกเบี้ยลงได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ที่ระดับ0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ระดับ0.25%
และระยะข้างหน้า มีโอกาสเช่นเดียวกันที่จะเห็น กนง.ใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% หรือ เดินหน้าเข้าสู่ดอกเบี้ยติดลบ
ดร.ทิม ยังกล่าวอีกว่า ดังนั้นถือเป็นความท้าทายค่อนข้างมาก สำหรับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คนใหม่ ในการทำนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า รวมถึงต้องติดตาม ว่าระยะข้างหน้าจะมีการประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือคิวอีหรือไม่ ซึ่งหากมีการประกาศใช้ ต้องติดตามว่า การใช้คิวดี จะสามารถช่วยเศรษฐกิจได้หรือไม่ เพราะโครงสร้างหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจมาจาก เอสเอ็มอีถึง 40% ดังนั้นการประกาศใช้คิวอี เอสเอ็มอีอาจจะเข้าไม่ถึงได้ ดังนั้นยังเป็นปัจจัยท้าทาย ว่าหากมีการใช้คิวอี จะมีส่วนช่วยเอสเอ็มอีได้อย่างไร
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท คาดมีโอกาสเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าไปอยู่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ในสิ้นปีนี้ หากท่องเที่ยวกลับมาช่วงปลายปี และโควิด-19 ไม่มีระบาดรอบสอง